มาทำความรู้จักกับเซ็นบะซุรุ (Senbazuru) กันเถอะ!
เซ็นบะซุรุ หรือ มาลัยนกกระเรียนพันตัวนี้มีเรื่องราวและประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สืบสาวไปถึงต้นตอก็คงจะต้องเริ่มกันที่ศิลปะอันเรืองชื่อของประเทศญี่ปุ่น โอะริกะมิ (Origami) ในภาษาญี่ปุ่นนั้นคำว่าโอะริ หมายถึง พับ ส่วนคำว่า กะมิ หมายถึงกระดาษ รวมกันแล้วโอะริกะมิก็หมายถึง ศิลปะการพับกระดาษ และขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่าจู่ๆ นึกอยากจะพับกระดาษก็พับขึ้นตามใจฉัน เพราะญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีว่ามีกฏระเบียบที่เคร่งครัด โอะริกะมิจะต้องพับจากกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น ไม่มีการตัดกระดาษ และไม่มีการใช้กาว! ประวัติของโอะริกะมินั้นเล่าขานกันว่าเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 8
ส่วนนกกระเรียนในประเทศญี่ปุ่นนั้นหมายถึงความสุข และเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาช้านาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าโอะริกะมิพื้นฐานจะมีนกกระเรียนเป็นตัวยืน มีตำนาณเก่าแก่กล่าวไว้ว่า หากพับนกกระเรียนได้ครบหนึ่งพันตัว คำอธิษฐานของคนผู้นั้นจะเป็นความจริง โดยเฉพาะคำอธิษฐานที่ขอให้อายุยืน หรือหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และนี่คือที่มาของเซ็นบะซุรุ (Senbazuru)
เซ็นบะซุรุ คือการร้อยนกกระเรียนหนึ่งพันตัวเข้าด้วยกัน หากเป็นเมืองไทยก็คงจะได้ชื่อว่า 'มาลัยนกกระเรียนหนึ่งพันตัว' การร้อยนกกระดาษนี้จะร้อยเป็นสาย สายละ 20 ตัว หรือ 25 หรือ 40 หรือแม้กระทั้ง 50 ตัว ตามแต่ใจปรารถนา เสร็จแล้วก็นำมาผูกเข้าด้วยกันเป็นช่อใหญ่ ตามธรรมเนียมดั้งเดิมเซ็นบะซุรุจะทำให้กันเป็นของขวัญวันแต่งงาน ซึ่งเป็นการอวยพรว่า ขอให้ครองคู่กันอย่างมีความสุขและหวานชื่นถึงหนึ่งพันปี! นอกจากนี้ยังให้เป็นของขวัญสำหรับเด็กคลอดใหม่ และนิยมแขวนกันในบ้านเพราะเชื่อกันว่าจะทำให้โชคดีมีสุข
นอกจากจะให้กันเป็นของขวัญแล้ว คนญี่ปุ่นยังบูชาเทพเจ้าด้วยเซ็นบะซุรุ รูปต่างๆ ในบล็อกนี้ ฉันถ่ายรูปเก็บไว้จากศาลเจ้าหลากหลายแห่ง บางศาลเจ้าจะมีหิ้งแขวนมาลัยเซ็นบะซุรุพร้อมแผ่นเอะมะ ทำให้เป็นจุดสำหรับถ่ายภาพสวยๆ ที่มีสีสันสดใส
ในเวลาต่อมา มาลัยนกพันตัวนี้ยังเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับโรคร้าย เช่นโรคมะเร็งต่างๆ และการต่อสู้เพื่อสันติภาพอีกด้วย