วัดมันพูคุจิที่เกียวโตในฤดูร้อน

พุทธศาสนาโพ้นทะเลตอน 5 - นักบวชอินเงน ริวคิ

นักบวชของวัดมันพูคุจิจะไม่เหมือนกับที่วัดพุทธแห่งอื่น ๆ ในญี่ปุ่น ตรงที่พวกท่านปฏิบัติตนตามวิถีพุทธแบบจีน (แบบหมิง)แท้ และฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวทางนั้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งเสียงสวด ทำนอง และจังหวะของพระสูตรฟังดูไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ และตัววัดเองก็มีสไตล์ที่แปลกแบบหมิงด้วย หัวหน้านักบุญท่านแรกของวัดมันพูคุจิเป็นปรมาจารย์ชาวจีนผู้เที่ยงธรรมนามอินเงน ริวคิ และวิถีเซนของท่านก็เป็นประเพณีอันยืนยาวของที่นี่มากว่า 350 ปีแล้ว

รู้จักกับเสน่ห์ของวัด

ที่วัดแห่งนี้มีสีสันและการออกแบบที่เปี่ยมเสน่ห์อยู่หลายประการ ได้แก่พระพุทธรูปโฮเทอิทองคำที่ประดับประดาอย่างสวยงามฉูดฉาด ทางเดินหินที่ออกแบบเป็นรูปมังกร หลังคาโค้งสมบูรณ์แบบ ไม้ระแนงที่งดงาม และจัตุรัสพื้นทรายที่กว้างขวางตรงหน้าศาลาใหญ่ แล้วก็ยังมีงานไม้รูปปลาน่ารัก ๆ กับลูกท้อเย็บปักที่แขวนอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณวัด มาทำความรู้จักกับแต่ละอย่างแบบละเอียดกัน

พระพุทธรูปโฮเทอิทองคำตั้งอยู่ในศาลาเทนโนเดน ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกที่คุณจะเห็นเมื่อผ่านประตูใหญ่ซันมอนมา เทนโนเดนเปรียบได้กับทางเข้าของวัด และทุกคนจะสักการะพระพุทธรูปโฮเทอิกันเป็นอันดับแรกก่อน แล้วจึงค่อยเดินต่อไปยังแดนศักดิ์สิทธิ์ด้านใน

บนทางเดินที่ใช้เชื่อมอาคารบางแห่งของวัดจะมีหินรูปข้าวหลามตัดวางเรียงกันอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือรูปเกล็ดของมังกร นั่นเพราะว่ามังกรคือสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในจีน มีแต่หัวหน้านักบวชเท่านั้นที่ได้สิทธิ์เหยียบย่ำ

อาคารบางหลังจะมีหลังคารูปโค้งสมบูรณ์แบบหรือเป็นระแนงที่สวยงาม ซึ่งการออกแบบเหล่านี้เป็นสไตล์จีน(แบบหมิง)นั่นเอง

จัตุรัสขนาดใหญ่มีชื่อว่าเง็ตไต ตั้งอยู่ตรงหน้าศาลาไดโอโฮเดน ซึ่งมีไว้สำหรับพิธีกรรมพิเศษ ในวันคืนเดือนมืดและวันเพ็ญของทุกเดือน หินเรียบที่ตั้งอยู่ตรงกลางจัตุรัสมีไว้สำหรับการสารภาพบาป

ปลาทำจากไม้ขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่ตรงพระระเบียงใช้สำหรับบอกเวลา และปลาจะว่ายน้ำพร้อมกับเปิดตากว้างอยู่เสมอ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้นักบวชขยันขันแข็งด้วย ป้ายที่เป็นงานเย็บปักและมีรูปลูกท้อสีสันฉูดฉาดที่แขวนอยู่ตรงศาลาไคซันโดเป็นสิ่งบูชาจิตวิญญาณของท่านอินเงน ริวคิ และเชื่อกันว่าลูกท้อเป็นเครื่องรางที่ช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายออกไป ซึ่งการตกแต่งที่สีสันสดใสนี้ทำให้ห้องดูมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง

นักบวชอินเงน ริวคิ

ปีค.ศ. 1592 อินเงน ริวคืถือกำเนิดขึ้นที่มณฑลฝูเจี้ยนของแผ่นดินหมิง (ราชวงศ์หมิง 1368-1644) และได้รับคำเชิญให้ไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อรับตำแหน่งหัวหน้านักบวชของวัดโซฟูคุจิที่นางาซากิในปี 1654 ท่านมีกำหนดให้อยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลาสามปี เพราะฉะนั้นเมื่อถึงสิ้นปีสุดท้าย ท่านจึงถูกรบเร้าให้เดินทางกลับไปที่จีน แต่องค์พระจักรพรรดิและโชกุนตระกูลโทคุงาวะลำดับที่สี่นามอิเอตสึนะพยายามรั้งให้ท่านอินเงนอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อ โดยอิเอตสึนะได้บริจาคที่ดินขนาดใหญ่แก่ท่านอินเงนและดำเนินการเปิดวัดมันพูคุจิที่เมืองอุจิของเกียวโตในปี 1661

ตอนที่ท่านอินเงนมาถึงแผ่นดินญี่ปุ่นครั้งแรกนั้น คณะผู้ติดตามของท่านจากจีนประกอบไปด้วยนักบวช 20 ท่านและช่างฝีมืออีก 10 นาย ท่านกับคณะเดินทางได้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจนศิลปะ ยารักษาโรค สถาปัตยกรรม ดนตรี งานเขียน กลวิธีการพิมพ์ ชาเขียวเซนฉะ และวัฒนธรรมอื่น ๆ จากราชวงศ์หมิงได้หยั่งรากลงที่ญี่ปุ่น ถั่วเขียวที่ปัจจุบันนี้เรียกว่าอินเงน มาเมะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ท่านอินเงนนำติดตัวมาด้วย ฟุฉะ เรียวริ (การทำอาหารเจแบบจีน) ก็เป็นท่านที่นำมาแนะนำให้รู้จัก ซึ่งมีแนวคิดที่ว่าการทานอาหารควรจะแบ่งปันกับมิตรสหายอย่างสนุกสนาน

ราชวงศ์หมิงกับมันพูคุจิ

นักบวชโทโกะ ชิเนทสึ (อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ในเรื่องวัดไดโอจิ) ซึ่งมาจากแผ่นดินหมิงได้แวะมาเยี่ยมเยียนวัดมันพูคุจิในปี 1680 ตามที่ระบุในหนังสือ (『明朝末帝の日本亡命』) ท่านล่วงรู้ความลับของจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงในยุคนั้น เรื่องราวเป็นดังต่อไปนี้:

ปี 1647 เรือของจีนสามลำปรากฏให้เห็นและทอดสมอลงที่นอกชายฝั่งนางาซากิ โชกุนโทคุงาวะเข้าทำการตรวจสอบเรือทั้งสามลำนั้น และเตรียมทหารไว้เผื่อเกิดการสู้รบ ก็ต้องแปลกใจเมื่อพบกับคน 360 คนซึ่งรวมไปถึงผู้สูงศักดิ์บนเรือเหล่านั้นด้วย ทั้งหมดเป็นผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากราชวงศ์ชิงที่เพิ่งขึ้นครองอำนาจ และขอให้ญี่ปุ่นคุ้มครองพวกตน โชกุนก็ตอบรับคำร้องขอนั้น และให้ที่พักพิงอย่างลับ ๆ กับผู้สูงศักดิ์คนนั้นและตระกูลของเขา แต่คนอื่นที่เหลือถูกเนรเทศ ครอบครัวผู้สูงศักดิ์ถูกพาไปหาตระกูลโอวาริและอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นนับตั้งแต่นั้น แต่หลังจากมาอยู่อาศัยในญี่ปุ่นได้ระยะหนึ่ง เขาก็มักจะไปที่อิโทคุเดน (บริเวณที่อยู่ด้านในสุด) ของวัดมันพูคุจิอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำการประชุมลับที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ แต่ตามประวัติศาสตร์แล้วมันก็ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง

วัดมันพูคุจิเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์มากซึ่งรักษาวิถีและสไตล์ของราชวงศ์หมิงเอาไว้ น่าเสียดายที่วัดพุทธส่วนใหญ่ในจีนโดยเฉพาะวัดแบบหมิงนั้นได้สูญหายไปแทบหมดสิ้นแล้ว แต่ในญี่ปุ่นเรายังสามารถสัมผัสประเพณี ความเชื่อ ศิลปะ และวิถีเหล่านั้นได้ ทั้งเซนและจิตวิญญาณของนักบวชอินเงนถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่อย่างมีชีวิตชีวา คุณสามารถย้อนไปดูราชวงศ์หมิงของจีนได้ เพียงแค่ขึ้นรถไฟเจอาร์สายนาระ 20 นาทีจากเกียวโตเท่านั้น และลงที่สถานีโอบาคุ

เกี่ยวกับบทความชุด: พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเล

1. กันจิน วาโจ (688-763): วัดโทโชไดจิในนาระ

2. รังเคอิ โดริว (1213-1278): วัดเคนโชจิในคามาคุระ

3. มุงาคุ โซเงน (1226-1286): วัดเอนงาคุจิในคามาคุระ

4. อิซซัง อิจิเนอิ (1247-1317): วัดซูเจนจิในอิสุ

5. อินเงน ริวคิ (1592-1673): วัดมันพูคูจิในอูจิ

6. โทโกะ ชิเนทสึ (1639-1696): วัดไดโอจิในโทจิงิ

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.