ปราสาทคุมาโมโตะ และ Saigo Takamori ซามูไรคนสุดท้าย

ย้อนรอยซามูไรตัวจริงคนสุดท้ายของญี่ปุ่น

“ถ้าหวังทำงานใหญ่ ต้องรักษาชีวิต [คนรุ่นหนุ่ม] ไว้” 

“ถ้าหวังตายอย่างเป็นอมตะยืนยง ก็ต้องพร้อมตายได้ทุกเมื่อ” 

        โยชิดะ โชอิง (ครูซามูไรมณฑลโจชู) ซามูไรคนนี้มีจริง คำพูดมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น 

    ปราสาทคุมาโมโตะ ยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้า กำแพงหินทึบ หนา และสูง ป้อมปราการสูงลิ่ว มองไปได้รอบทิศทาง เหมาะกับการเป็นทีี่ตั้งรับข้าศึกอย่างยิ่งแ

    กลุ่มอาคารไม้ในบริเวณนี้ สร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1467 เป็นสิ่งปลูกสร้างที่นับเป็นมรดกวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ส่วนที่ขยายในปี ค.ศ. 1601เป็นปราสาทใหญ่ เคยถูกล้อมในการสู้รบกับกบถสัทซึมะ  ถูกไฟไหม้แต่มาสร้างใหม่เอาในปี ค.ศ. 1960 นี่เอง

    คำว่ากบถสัทซึมะทำให้นักอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างที คิดถึงไซโงะ ทาคาโมริ ซามูไรหน้ากลม ร่างกลม ผู้มีชีวิตผกผัน ตั้งแต่ลืมตามาดูโลก เดี๋ยวรุ่งเรืองเดี๋ยวตกต่ำ เขาคือแม่ทัพใหญ่ในปฏิบัติการยึดอำนาจคืนให้พระจักรพรรดิ

    พอถวายพระราชอำนาจคืนได้ สามซามูไร คือ Kido Koin ซามูไรจากโชจู Okubo Toshimichi และ Saigo Takamori ก็ช่วยกันก่อร่างสร้างญี่ปุ่นสมัยใหม่ กิโดะ เป็นนักการทูต โอกุโบะ เป็นนักวางแผน ไซโงะ เป็นนักรบ ที่พัฒนากองกำลังของราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่  

    เวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี สามคนก็มีความเห็นแตกกัน นักรบอยากจะบุกยึดเกาหลี แต่นักวางแผนกับนักการทูตคัดค้าน เพราะเห็นมาด้วยตาจากการได้เดินทางไปต่างประเทศแล้วว่า กำลังรบญี่ปุ่นสู้ตะวันตกไม่ได้ ยังไม่อยากเอาประเทศไปเสี่ยงในการขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่จะเป็นอันตรายต่ออนาคตของญี่ปุ่น  เมื่ออุดมการณ์ขัดกัน ไซโงะจึงลาออกจากตำแหน่ง กลับไปบ้านเกิด

    พวกซามูไรสัทซึมะ ที่ไม่ค่อยพอใจกับสถานการณ์ในญี่ปุ่นช่วงเปลี่ยนผ่านในเวลานั้น ขอให้ไซโงะนำทัพไปรบกับฝ่ายรัฐบาล ตอนนี้เองที่ปราสาทถูกล้อม ไซโงะพยายามบุกแต่อีกฝ่ายกลับเงียบ จนฝ่ายสัทซึมะกระสุนหมด จึงโดนฝ่ายรัฐบาลตีกลับด้วยอาวุธสมัยใหม่ ในขณะที่ฝ่ายสัทซึมะต้องใช้ดาบแบบดั้งเดิม ไซโงะได้รับบาดเจ็บ และทำเซปปุกุ (คือคว้านท้องตัวเอง) ตายแบบซามูไร โดยไม่ยอมให้ตนเองถูกจับ 

    นี่คือการรบระหว่างคนญี่ปุ่นด้วยกันเองเป็นครั้งสุดท้าย และไซโงะมักได้รับการกล่าวถึงว่า คือซามูไรตัวจริงคนสุดท้ายของญี่ปุ่น ผู้ธำรงคุณค่าแห่งวิถีซามูไรจนถึงวันตาย 

    แม้การพ่ายแพ้จะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นกบถ แต่ต่อมาในภายหลังไซโงะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขายังคงเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงด้วยความยกย่องเรื่อยมา

    วันนี้ปราสาทคุมาโมโตะก็ถูกบุกเหมือนกัน เพียงแต่ผู้บุกคือนักท่องเที่ยวและนักเรียนญี่ปุ่น  ที่กระหายใครเรียนรู้ ซึ่งปราสาทเปิดประตูต้อนรับอย่างเต็มใจ

9
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.