คันโคจิ ศาลเจ้าท้องถิ่นในโอตะ

ศาลเจ้าท้องถิ่นอันสวยงามใกล้กับแม่น้ำทามากาวะ

การออกนอกทางระหว่างจะไปเที่ยวที่ทามากาวะได้กลายเป็นการเปิดหูเปิดตาในด้านประเพณีเกี่ยวกับความตายของญี่ปุ่นอย่างไม่ทันคาดคิด หลังเดินมาได้ 10 นาทีจากอพาร์ตเมนต์ของฉันที่โอคเฮาส์ คามาตะ 260 โดยมุ่งตรงไปยังโยโกฮามะนั้น ฉันไปสะดุดตาเข้ากับศาลเจ้าเล็ก ๆ ชื่อคันโคจิ (観乗寺) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันสงบสุขที่ซ่อนสายตาอยู่จากถนนใหญ่

ประวัติของศาลเจ้าคันโคจินั้นย้อนไปไกลถึงปีค.ศ. 1624 ถูกสร้างขึ้นโดยข้าราชการที่ทำงานอยู่ในรัฐบาลโทกุกาวะ แม้จะมีประวัติยาวนานถึง 400 ปี แต่ในปี 1945 สงครามได้ทำลายทรัพย์สมบัติล้ำค่าของวัดแห่งนี้ลงไปหมดสิ้น

ศาลเจ้าคันโคจิในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ไว้สำหรับประชาชนของเขตโอตะ

ตอนแรกฉันเดินเข้าไปที่ บริเวณของศาลเจ้าอย่างระมัดระวัง ก้อนกรวดก้อนหินส่งเสียงอยู่ใต้เท้าของฉัน ไม่เห็นใครอยู่แถวนั้นเลย ทำให้ฉันสงสัยว่าที่นี่เปิดให้คนทั่วไปเข้าได้หรือเปล่า ฉันสลัดความรู้สึกผิดที่คิดว่าตัวเองอาจกำลังบุกรุกพื้นที่ออกไป แล้วเริ่มเดินสำรวจสิ่งที่อยู่ในวัดต่อไป

สิ่งแรกที่สะดุดความสนใจฉันคือ "รางน้ำชำระความบริสุทธิ์" ซึ่งมีให้เห็นเป็นปกติในศาลเจ้าของญี่ปุ่น คำว่า洗心 (เซน-ชิน) ที่สลักอยู่ตรงนั้นแปลได้ตรงตัวว่าการล้าง หรือการชำระใจให้บริสุทธิ์ พอได้อ่านอักษรคันจิก็ทำให้ฉันรับรู้ถึงความขลังของสิ่งก่อสร้างอันศักดิ์สิทธิ์นี้ แล้วฉันก็ยังตื่นตาตื่นใจไปกับรูปสลักมังกรสีครามเขียวอันสวยงามซึ่งอยู่บนรางน้ำชำระบริสุทธิ์ ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นรางน้ำชำระบริสุทธิ์อยู่ที่บริเวณทางเข้าของศาลเจ้าญี่ปุ่น การล้างมือด้วยกระบวยและน้ำที่อยู่ในรางเป็นสัญลักษณ์แทนการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แล้วก็ยังเป็นธรรมเนียมด้วยว่าให้เอามือวักน้ำขึ้นจากราง อมไว้ในปาก แล้วบ้วนออกลงพื้นตรงข้าง ๆ รางน้ำ

น่าเสียดายที่อาคารใหญ่ของวัดไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม พอหลังจากถ่ายรูปด้านนอกเก็บไว้แล้วนั้นฉันก็ตรงไปยังด้านหลังของวัดอันเป็นบริเวณของสุสานตระกูลต่าง ๆ ฉันเดินผ่านหลุมฝังศพด้วยความเคารพและมองชื่อที่สลักอยู่บนศิลาด้วยความรู้ด้านตัวคันจิที่มีอยู่น้อยนิดของฉัน ประเพณีหลุมฝังศพและสุสานของญี่ปุ่นนั้นมีรากฐานหลัก ๆ มาจากพุทธศาสนา ที่ด้านหลังศิลาของแต่ละหลุมจะมีแผ่นไม้บาง ๆ ที่เรียกว่า "โสะโตะ-บะ" (卒塔婆) ที่มาจากคำว่าสถูปในภาษาสันสกฤตแปลว่าเจดีย์ จากที่เคยไปประเทศกัมพูชาและไทยทำให้ฉันคุ้นเคยกับเจดีย์ที่ทำจากหิน แต่วันนี้ฉันเพิ่งมารู้ว่าชาวญี่ปุ่นใช้โสะโตะ-บะเป็นสัญลักษณ์แทนเจดีย์ด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมรูปร่างด้านบนของโสะโตะ-บะถึงได้ดูเหมือนเจดีย์ บนผิวของแผ่นไม้แบนเรียบนั้นสมาชิกในครอบครัวมักจะเขียนชื่อของชาวพุทธที่ตายจากไป รวมทั้งวันที่เสียชีวิต และข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญไว้บนนั้น

ศิลาหน้าหลุมศพหลุมหนึ่งมีรูปปั้นของผู้หญิงกับเด็ก ๆ สองสามคน ฉันเลยคิดว่านั่นคงเป็น "พระเจ้า" หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งผู้ดูแลประจำศาลเจ้าได้อธิบายให้ฉันฟังว่ารูปปั้นนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นการสักการะบรรพบุรุษ ให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียชีวิตขณะอุ้มท้องลูกที่ยังไม่เกิด

ฉันเป็นชาวสิงคโปร์เชื้อจีน และคุ้นเคยดีกับธรรมเนียมการสักการะบรรพบุรุษ จึงสงสัยเรื่องวันพิเศษที่อุทิศแด่สุสานในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผู้เฝ้าสุสานคนนั้นก็บอกกับฉันว่าจะมีช่วงโอบอนในเดือนสิงหาคม ซึ่งกินเวลาสามวัน ในสามวันนั้นครอบครัวของผู้ที่จากไปจะทำความสะอาดหลุมฝังศพ ก่อไฟหรือจุดโคมเพื่อช่วยนำทางวิญญาณกลับบ้าน และเป็นการส่งกุศลไปให้แก่ผู้ตายด้วย ช่วงโอบอนยังเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูร้อนเช่นกัน จะมีงานแห่ขนาดใหญ่ที่ชาวญี่ปุ่นสวมชุดยูกาตะไปร่วม

สิ่งที่กระตุ้นความสนใจของฉันจากประสบการณ์ครั้งนี้คือการได้รู้ว่าชาวญี่ปุ่นนั้นมองเรื่องความตายอย่างไม่เคร่งเครียดเท่าไหร่เลย ถ้าเป็นในวัฒนธรรมตะวันตก หรือแม้แต่ในสิงคโปร์ล่ะก็ ความตายเป็นเรื่องต้องห้าม และน่ากลัวด้วยซ้ำ แทบจะไม่มีการเฉียดไปใกล้สุสานเด็ดขาด แต่ในทางตรงข้ามนั้น อาจเป็นเพราะความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดของชาวพุทธ คนญี่ปุ่นจึงไม่ได้มองว่าความตายเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัว

ฉันกลับจากคันโคจิมาพร้อมกับความรู้ใหม่เรื่องประเพณีพิธีฝังศพและมุมมองเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวญี่ปุ่น การได้พูดคุยกับคนเฝ้าสุสานด้วยภาษาญี่ปุ่นเท่าห่างอึ่งของฉันก็ทำให้ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับธรรมเนียมญี่ปุ่นมากพอแล้ว พวกเขายังใจดีมากอุตส่าห์ให้แผนที่ของโอตะและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของคันโคจิกับฉัน ที่นี่ยังถือเป็นสถานที่แห่งความสงบและสวยงาม ไว้สำหรับหลบหลีกจากถนนใหญ่ โรงงาน โชว์รูมรถ และร้านอาหารที่วุ่นวาย

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.