ตลาดเช้าวะจิมะ

ประสบการณ์ที่ยาวนานถึงพันปี

หลังจากที่ตื่นในตอนเช้าตรู่ ผมเดินออกจากโรงแรมไปตามเส้นทางด้านข้างของท่าเรือ มุ่งหน้าไปยังตลาดเช้าบนถนนอะไซชิ-โดะริ ก่อนที่ตลาดจะเปิดทำการ ผมต้องการไปดูว่าในตลาดมีกิจกรรมอะไรบ้างก่อนที่จะมีผู้คนมากมาย มีกลุ่มผู้หญิงหลากหลายอายุกำลังจัดวางโต๊ะและเต้นท์ และมีหลายคนที่กำลังพูดคุยหยอกเย้ากันอยู่

โดยรวมแล้วมีบรรยากาศที่สนุกสนานในระหว่างกลุ่มสาวๆ บางคนมีใบหน้าที่ฉายให้เห็นว่าได้ผ่านกาลเวลามานาน ผมแน่ใจว่าเธอคงมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากมาย แม้ยังมีเวลาตั้งเกือบชั่วโมงก่อนถึงเวลาเปิดทำการของตลาด มีแม่ค้าหลายคนเริ่มขายสินค้าให้แก่ผู้เดินผ่านไปมาแล้ว ซึ่งรวมทั้งผมด้วย

ตลาดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามตลาดเช้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นตลาดเช้าที่เก่าแก่ที่สุดอีกด้วย

วะจิมะเป็นเมืองเครื่องเขินซึ่งช่างฝีมือส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะเป็นคนที่ทำงานอยู่ข้างนอก และจะจับกลุ่มพบปะกันในตอนเช้า เพื่อจับจ่ายซื้อหาอาหาร และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของตลาดเช้าแห่งนี้

คุณสามารถหาซื้ออาหารทะเลสดใหม่จากทะเล ผัก ผลไม้ ขนมหวาน ผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน รวมทั้งงานฝีมือต่างๆ

ผมกลับมาที่ตลาดอีกครั้งในเวลาที่ตลาดเปิดทำการแล้ว และพบว่าบรรยากาศของตลาดได้เปลี่ยนไปมากมาย เหล่าแม่ค้าต่างเคร่งเครียดและขมีขมันขายสินค้าของตน เกือบสุดปลายตลาดผมพบกับคุณยะมะนะชิ โทะชิเอะ (Yamanishi Toshie) ที่กำลังขายขนมหวานของโนะโตะ เป็นขนมหวานที่ได้ธีมมาจากละครทีวี "มะเระ" (Mare) ซึ่งถ่ายทำที่คาบสมุทรโนะโตะและในโยโกฮามา คุณโทะชิเอะได้ขายขนมอยู่ที่ตรงนี้มาเป็นเวลาถึง 38 ปี และเป็นเจ้าของร้านขายขนมหวานที่ตั้งอยู่ข้างหลังเตนท์ของเธอ ผมเลือกซื้อขนมคุ้กกี้เป็นของขวัญได้หลายกล่อง และราคาก็สมเหตุสมผลด้วย

ที่บูธขายสินค้างานฝีมือ ผมเห็นกบไม้สีดำหลายตัวบนโต๊ะ ส่วนหลังของกบเป็นหยัก และคนขายก็กำลังถูไม้ไปมาบนหลัง ทำให้เกิดเสียงร้องอ๊บๆ ผมนึกขึ้นได้ว่าลูกสะใภ้ของผมชอบของทุกสิ่งที่เป็นกบ เลยซื้อมาหนึ่งตัวเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดแก่เธอ

เดินกลับออกมาที่ทางออก ผมสังเกตุเห็นร้านขายเครื่องเขินที่มีป้ายกำกับไว้ว่าพนักงานของที่ร้านพูดภาษาอังกฤษได้ ภายในร้านเต็มไปด้วยงานเครื่องเขินที่น่าสนใจของช่างฝีมือท้องถิ่น คุณจะสังเกตุเห็นได้ว่ามีถ้วยและตะเกียบเครื่องเขินวางขายอยู่ในหลายๆ สถานที่  ถ้ามันมีราคาถูกแล้วละก็ มันคงไม่ได้ทำที่วะจิมะ หากคุณกำลังมองหาเครื่องเขินชิ้นสวยๆ เพื่อเอากลับไปบ้าน ผมขอแนะนำให้ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อคุณจะได้ของแท้ดั้งเดิม อีกทั้งเป็นการสนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่น หากคุณมีเวลามากพอในระหว่างการเดินทางของคุณ โปรดเข้าเยี่ยมชมหนึ่งในกว่า 500 ร้านเครื่องเขิน และเรียนรู้กรรมวิธีที่เหลือเชี่อในการทำเครื่องเขินแต่ละชิ้น

เมื่อผมกลับไปที่วะจิมะอีกครั้ง ผมวางแผนจะกลับไปที่ตลาดเช้า เพื่อไปชมทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมคิดถึง และพูดคุยกับเหล่าแม่ค้า

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.