บูรณะอนุสรณ์สถานสงคราม

รำลึกศึกกลางเวหาครั้งใหญ่แห่งนครเซ็นได

คงไม่มีใครที่อยากจดจำโศกนาฏกรรมที่เกิดจากสงคราม ทว่าก็ไม่ควรลืมมันไปเช่นกัน ถ้าหากจะเกิด "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" อย่างที่ชอบกล่าวกันบ่อย ๆ ล่ะก็ เช่นนั้นการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเราเอง ทั้งในด้านที่ดีงามและเลวร้าย ก็จะช่วยทำให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้นกับการใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ความสามัคคีมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากพอ ๆ กับความขัดแย้ง การถล่มด้วยระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ รวมไปถึงการทิ้งระเบิดเพลิงที่กรุงโตเกียวอาจจะเป็นการทำลายล้างแผ่นดินแดนอาทิตย์อุทัยที่เป็นคนจดจำกันได้มากที่สุด หลายเมืองตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศถูกเล็งเป้าและถล่มไปพร้อมกับคร่าชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัย หลายเมืองใหญ่ในเขตภาคโทโฮคุถูกโจมตี ใครที่อยากจะรู้เกี่ยวกับควันหลงจากการถูกถล่มทางอากาศที่เมืองหลวงของโทโฮคุชื่อเซนได ขอบอกว่าต้องห้ามพลาดการไปเยือนบูรณะอนุสรณ์สถานสงครามแห่งนครเซ็นได

ในวันที่ 10 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1945 เพียงหนึ่งเดือนก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นโบอิ้ง บี-29 จำนวน 123 ลำ บุกเข้าจู่โจมนครเซ็นได เป็นเวลากว่าชั่วโมงที่ฝูงเครื่องบินแล่นอยู่เหนือเมืองหลวงทางภาคเหนือแห่งนี้ และพรากชีวิตผู้คนไปนับพัน จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว และทั้งเมืองถูกถล่มจนราบเป็นหน้ากลอง

ใช้เวลาเดินเท้าเพียงสิบนาทีจากสถานีฮิโระเสะโดริลงมาตามซอยข้างถนนสายหลักจะพบกับบูรณะอนุสรณ์สถานสงครามแห่งนครเซ็นได ในส่วนอาคารของอนุสรณ์สถานประกอบไปด้วยโรงละคร, ห้องสัมมนาให้เช่า, ศูนย์ประชาสัมพันธ์ที่มีแผ่นพับบอกข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ รอบเมือง และมีร้านอาหารให้บริการ แต่เป้าหมายของเราคือให้คุณจ่ายเพียงร้อยเยนแล้วเดินเข้าไปชมอนุสรณ์สถานเลย พิพิธภัณฑ์สงครามแห่งนี้ประกอบไปด้วยพื้นที่หลักสามส่วนตามชื่อได้แก่ สงครามกับประเทศญี่ปุ่น, สงครามกับชีวิตประจำวัน และสงครามกับการบูรณะ แต่ก่อนที่จะเข้าไปในส่วนจัดแสดง คุณจะได้เห็นภาพถ่ายจำนวนมากของนครเซ็นไดช่วงก่อนที่จะเกิดสงคราม และมีแบบจำลองผังเมืองตั้งอยู่ให้ได้ชมด้วย

ในส่วนพื้นที่สงครามกับประเทศญี่ปุ่นถือเป็นบริเวณที่เอาใจผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ทางการทหารโดยเฉพาะ ที่ส่วนนี้คุณจะได้พบกับเครื่องแบบ, ธงชาติ, เหรียญตรา, ระเบิดและอาวุธเก่าจำนวนมาก แม้จะไม่มีข้อมูลภาษาอังกฤษกำกับไว้ แต่คุณก็คงเดาได้ไม่ยากว่าชิ้นไหนคือหรือใช้ทำอะไรบ้าง แต่ก็มีอยู่บางชิ้นที่ถ้าได้คนญี่ปุ่นมาช่วยอธิบายคงจะดีไม่น้อย มีอยู่ป้ายหนึ่งที่ภาษาญี่ปุ่นดูปนกันไปหมดและทำให้ฉันสับสน แต่ก็ต้องขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทางที่ช่วยทำให้ฉันเข้าใจ ว่าซองเล็ก ๆ ที่มีภาษาญี่ปุ่นเขียนอยู่มันเคยเอาไว้ใช้ใส่เส้นผมและเศษเล็บของทหาร! มีเหตุผลอธิบายเรื่องนี้ไว้สองข้อ ข้อแรกเป็นเหตุผลด้านกายภาพ นั่นคือการใช้วิธีแบบบ้าน ๆ ในการระบุตัวทหารที่เสียชีวิตลงในสงคราม (โดยเอาเศษเล็บมาเทียบรอยตัดเพื่อหาเจ้าของ) เหตุผลอีกข้อเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ข้าวของส่วนตัวที่ทหารทิ้งไว้จะถูกส่งกลับไปให้ครอบครัวหรือฝังไว้ในสุสานเพื่อใช้เป็นวัตถุสำหรับสวดสักการะและบูชาบรรพบุรุษ

ส่วนต่อไปคือพื้นที่สงครามกับชีวิตประจำวัน สงครามส่งผลกระทบกับทุกคน รวมทั้งคนที่ไม่ใช่ทหารด้วย ประชาชนที่ทำงานในโรงงานก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากการบุกโจมตีทางอากาศด้วยเช่นกัน ในบริเวณนี้ของพิพิธภัณฑ์จะมีการนำบทความข่าวรายวันและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในยามสงครามมาบอกเล่าด้วย โดยไฮไลต์จะอยู่ที่หลุมหลบระเบิดในยามสงครามอันเป็นจุดที่แบ่งพื้นที่ส่วนสงครามกับญี่ปุ่นและชีวิตประจำวันกับสงครามแยกจากกัน หลุมหลบระเบิดขนาดเท่าของจริงนี้ก็มีหุ่นจำลองของคนที่ใบหน้ามีอารมณ์สมจริงมาก ๆ เป็นประสบการณ์ที่สะเทือนใจจริง ๆ และในส่วนนี้ของพิพิธภัณฑ์คุณจะได้เห็นเงินตราที่ใช้ในช่วงสงครามกับสิ่งของเล็ก ๆ อื่น ๆ

ส่วนสุดท้ายคือบริเวณของสงครามกับการบูรณะ จะมีลำดับเหตุการณ์คร่าว ๆ ตั้งแต่ยุคหลังสงครามจนถึงปัจจุบันแสดงอยู่ ตรงช่วงทางเดินสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์มีการแสดงรูปที่ขึ้นชื่อของเมืองเซ็นไดให้ได้ชม มีการจัดงานเทศกาลบนถนนสามเลนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองประจำทุกปี แต่ที่ป้ายก็ยังอธิบายเอาไว้ว่า มันหมายถึงการก้าวผ่านโศกนาฏกรรมและความโหดร้ายของอดีตไปด้วยเช่นกัน

ถ้าได้ไปเยือนบูรณะอนุสรณ์สถานสงครามแห่งนครเซ็นไดสักครั้งคุณจะรู้สึกได้ถึงอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นความตื่นเต้นไปกับประวัติศาสตร์การทหาร หรืออาจโศกเศร้ากับผู้ที่จากไป หรืออาจรู้ถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้นและมีความสุขที่ตัวเองยังมีลมหายใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ การเดินทางที่สะดวกจากใจกลางเมือง และค่าเข้าชมเพียง 100 เยนต่างก็ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คุ้มค่าแก่การไปเยี่ยมชมที่สุดในเมือง

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.