ป้ายโฆษณาเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวผู้ชอบถ่ายรูปทั่วไปต้องการลบทิ้ง แต่ป้ายโฆษณาแห่งนี้กลับเป็นเพียงป้ายเดียวในโลกที่กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว ดึงดูดให้ผู้ที่เดินทางมาโอซาก้าทุกคนตามหา และมีมนต์สะกดให้ต้องทำท่าตามเพื่อถ่ายรูปไปอวดเพื่อน
ชายคนนี้เริ่มออกวิ่งเพื่อเป็นโลโก้ให้กับขนมยี่ห้อกูลิโกะ (Glico) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 กลายเป็นป้ายยักษ์สูง 20 เมตรเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ โดทงโบริ ในปี ค.ศ. 1935 จนถึงปัจจุบัน ผ่านเวลามาเกือบ 100 ปีแล้ว เขายังคงวิ่งชูสองแขนอันหมายถึงการวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยรอยยิ้ม บนลู่วิ่งสีน้ำเงินสดใส และฉากหลังอันประกอบไปด้วยสัญลักษณ์สำคัญของเมืองโอซาก้าถิ่นกำเนิด ไล่ตั้งแต่ซ้ายสุดไปทางขวา ได้แก่ ปราสาทโอซาก้า, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไคยุคัง, สนามกีฬาโอซาก้าโดม และหอทซึเทนโคคุ-หอคอยประจำเมืองโอซาก้า
หากมีใครสักคนสะกิดถามคุณว่า ชายคนนี้วิ่งมาแล้วกี่เมตร อย่าเพิ่งหันไปค้อนเขา แต่ให้ตอบไปอย่างมั่นใจว่า 300 เมตร เหตุก็เพราะชื่อยี่ห้อ กูลิโกะ นั้นมีที่มาจากคำว่า ไกลโคเจน ซึ่งเป็นสารให้พลังงานที่นำมาผสมกับคาราเมล กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของกูลิโกะ ซึ่งผู้ให้กำเนิดกูลิโกะบอกว่า ปริมาณ 1 เม็ด ให้พลังงานเพื่อใช้ในการวิ่งได้ 300 เมตรพอดี (คำนวณโดยใช้นักวิ่งขนาดมาตรฐาน สูง 165 เซนติเมตร หนัก 55 กิโลกรัม ซึ่งอาจหมายถึงชายคนที่วิ่งอยู่ในป้ายนี้) คำว่า ไกลโคเจน (glycogen) คนญี่ปุ่นออกเสียงว่า กู-ลิ-โค-เก้น จึงกลายเป็นชื่อยี่ห้อ กูลิโกะ ไปด้วยเหตุฉะนี้
ป้ายนักวิ่ง 300 เมตรนี้มองเห็นเด่นชัดอยู่ข้างสะพานอิบิสึบาชิ ริมคลองโดทงโบริ ย่านการค้าสำคัญที่มากมายไปด้วยแหล่งช้อปปิ้งและร้านอาหารจำนวนนับไม่ถ้วน ในบริเวณมินามิ ใจกลางโอซาก้า สามารถมาถึงได้ง่ายด้วยรถไฟเจอาร์ ลงสถานีนัมบะ ไม่ต้องกลัวว่าจะหาไม่เจอ เพราะผู้คนจะนำพาคุณไปถึงเอง เนื่องจากป้ายกูลิโกะเป็นจุดนัดพบหลักของที่นี่ และคับคั่งไปด้วยผู้คนตลอดเวลา การจะถ่ายภาพป้ายโดยไม่ให้ติดคนเข้าไปด้วยคงต้องอาศัยจังหวะโอกาส และมุมกล้องสักหน่อย
ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ภารกิจสำคัญที่นักท่องเที่ยวทุกคนพึงทำ นั่นคือ ถ่ายภาพตัวเองคู่ป้ายกูลิโกะด้วยท่าเดียวกับหนุ่มนักวิ่ง ขอให้เต็มที่กับท่าทางและสีหน้า โดยไม่ต้องอายสายตาคนมากมายที่ต่างรอคิวจะเข้าไปทำท่าเดียวกัน นั่นแหละ คุณมาถึงโอซาก้าแล้วจริงๆ