วัดไดโอจิที่โทจิงิในฤดูร้อน

พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเลตอน 6 - นักบวชโทโกะ ชิเนทสึ

วัดไดโอจิตั้งอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของโทจิงิในคุโรบาเนะ สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1404 ให้เป็นวัดเซน ขุนนางในคุโรบาเนะชื่อโอเซกิเป็นผู้สนับสนุนวัดอย่างเต็มที่ในปี 1448 และตระกูลโอเซกิก็ได้เป็นลูกศิษย์ของวัดนี้เรื่อยมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน อาคารหลายหลังที่มีหลังคามุงใบจากถูกดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดีที่นี่ และทางลูกรังขรุขระในบริเวณวัดที่พระสงฆ์นับพันรูปได้ใช้เดินมาเป็นเวลากว่า 600 ปี ได้แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดของพวกท่าน ในปี 1693 นักบวชระดับสูงจากราชวงศ์หมิงของจีนมาแวะพักที่นี่ขณะกำลังจะเดินทางกลับไปที่วัดของท่านในมิโตะ อิบารากิหลังจากไปที่บ่อน้ำร้อนในนาสุมาเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทิ้งอักษรวิจิตรอันเลอค่าไว้ รวมทั้งลายมือของท่าน และภาพวาดจากหมึกอินเดียสามภาพเป็นของขวัญที่ระลึก

วัดไดโอจิ

วัดไดโอจิตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนากะ ซึ่งได้แบ่งคุโรบาเนะออกเป็นสองส่วน ต้นของแม่น้ำนากะเริ่มจากลำธารใสของภูเขาไฟนาสุและไหลลงมาสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในอิบารากิ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องปลาหวานด้วย

จากประตูซันมอนถึงโซมอน มีรูปปั้นหินที่น่าประทับใจซึ่งตั้งเรียงรายไปกับขั้นบันไดหิน 16 รูปปั้นของพระอรหันต์ (ผู้บรรลุนิพพาน) แต่ละรูปมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์เหมาะแก่การถ่ายรูปอย่างยิ่ง ผลงานเหล่านี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1994 เพื่อฉลองครบรอบ 600 ปีของวัดแห่งนี้ ที่ประตูโซมอน เราสามารถเห็นมองเห็นตัวอักษรที่แม้เลือนรางแต่ก็สวยงามเป็นคำว่า "เรียวจู" (ความหมายเดิมของเรียวจูเป็นภูเขาในอินเดียที่พระพุทธเจ้าสอนลูกศิษย์ของพระองค์) ศาลากลางอยู่พ้นประตูไป อาคารทางซ้ายมือไว้สำหรับปฏิบัติสมาธิแบบเซน และทางขวามือคือส่วนที่พักอาศัยของนักบุญ ทั้งสามอาคารนี้เชื่อมถึงกัน โดยมีทางเดินวนรอบลานโล่ง

นักบวชโทโกะ ชิเนทสึ

โทโกะ ชิเนทสึเกิดที่จินหัว (ในหมิง) เมื่อปี 1639 ปัจจุบันที่นั่นโด่งดังจากแฮมจีนชนิดพิเศษ ท่านใช้ชีวิตตอนเป็นเด็กท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวายช่วงสิ้นสุดราชวงศ์หมิงและช่วงเริ่มของราชวงศ์ชิง ขณะทีกำลังฝึกศาสนาพุทธอยู่นั้น ท่านก็ได้ละทิ้งความเป็นสงฆ์แล้วเข้าร่วมสงคราม ท่านได้กลายเป็นพระถืออาวุธเข้าต่อสู้กับกองทัพฝ่ายชิงด้วยความพลุ่งพล่าน แต่ท้ายที่สุดแล้วท่านก็สิ้นหวังในการรบที่ไม่มีท่าทางจะสิ้นสุดนี้และได้กลับไปที่วัดเพื่อปฏิบัติธรรมอีกครั้ง หลังจากนั้นท่านก็หมั่นศึกษาและทำสมาธิอยู่เป็นปี ๆ ก่อนจะบรรลุการรู้แจ้งทางจิตวิญญาณในที่สุด แต่การที่ท่านได้ไปเข้าร่วมสงครามได้ทำให้เกิดความยุ่งยากมากมายในชีวิตตามมา

ปี 1676 โทโกะ ชิเนทสึมาที่ญี่ปุ่นในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพื่อหลีกหนีจากราชวงศ์ชิงที่ไล่ล่าท่าน อันที่จริงแล้วญี่ปุ่นไม่เปิดรับโลกภายนอก แต่นักบวชระดับสูงจากต่างแดนสามารถอาศัยอยู่ในนางาซากิแบบไม่เป็นทางการได้ ในช่วงนั้น นิกายพุทธบางนิกายในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในสภาวะแห่งการเผชิญหน้ากัน และนิกายฝ่ายตรงข้ามก็พยายามบีบให้ท่านชิเนทสึออกจากแผ่นดินญี่ปุ่นไป เพื่อต่อต้านปัญหานี้ นิกายของท่านจึงทำการวิ่งเต้นอย่างเต็มที่ในเอโดะ (โตเกียวเก่า) เพื่อให้ท่านได้อยู่ที่นี่ต่อไป ท้ายที่สุดแล้วขุนนางมิโตะ มิตสุโคนิผู้เกรียงไกรก็ได้ต้อนรับท่าน ปี 1683 โทโกะ ชิเนทสึ ย้ายไปยังอาณาเขตมิโตะของมิตสุโคนิและเริ่มทำการสอนทั้งศาสนาพุทธและศิลปะเซนหลายแขนงด้วย ศิลปินญี่ปุ่นที่ได้เรียนวิชากับท่านโทโกะ ชิเนทสึได้ซึมซับแก่นจากการสอนของท่านและนำไปปรับปรุงยกระดับศิลปะแต่ละแขนงที่ประจำอยู่ (Cf.『東皐心越』高田祥平著).

ศิลปะแบบเซน

โทโกะ ชิเนทสึเป็นทั้งศิลปิน นักดนตรี และกวีที่รู้รอบ ท่านได้ฝากผลงานมากมายไว้ที่ญี่ปุ่น ทั้งผลงานภาพเขียนหมึกอินเดีย ตราประทับแกะสลัก อักษรวิจิตร พิณบรรเลงแบบจีน บทเพลง และกวีภาษาจีนล้วนแต่เป็นขั้นสูงและงดงามอย่างยิ่ง

ตราประทับแกะสลักคือการทำแสตมป์หรือตราประทับ แสตมป์จะใช้เป็นเหมือนลายเซ็นของเอกสารทางกฎหมาย แค่ตัวแสตมป์เองก็เป็นงานศิลป์แล้ว บางครั้งท่านก็จะทำตราประทับเป็นของขวัญแก่นักบวชรูปอื่น ในบรรดาผลงานอักษรวิจิตรของท่าน ต้องขอบคุณท่านเป็นพิเศษที่ได้สร้าง 47 อักษรวิจิตรไว้ในวัดทั่วญี่ปุ่น โดยที่ไม่มีนักบวชรูปใดเคยทำได้ยอดเยี่ยมเท่านี้มาก่อน "เรียวจู" ที่วัดไดโอจิก็เป็นหนึ่งในนั้น

มิตรภาพกับขุนนางโทคุกาวะ มิตสุคุนิ

มิโตะ มิตสุคุนิเป็นหนึ่งในบรรดาหลานของโทคุกาวะ อิเอยาสุ (โชกุนคนแรกของตระกูลโทคุกาวะ) มิตสุคุนิเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งในกิจกรรมด้านการเมืองและทางวัฒนธรรม เขาได้เรียนรู้เรื่องผลงานคลาสสิค คอยปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรม และเป็นเขียน "ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นผู้เกรียงไกร" ขึ้นใหม่

ทั้งคู่ได้พบกันเมื่อมิตสุคุนิเชิญโทโกะ ชิเนทสึมาร่วมพิธีดื่มชา มิตสุคุนิชงและมอบชาให้แก่โทโกะ ชิเนทสึ ตามรูปแบบพิธี แล้วฉับพลันก็เกิดความเงียบขึ้นทั่วทั้งห้องดื่มชา ในวินาทีนั้นที่โทโกะ ชิเนทสึกำลังจะดื่มชาเขียว พวกเขาก็ได้ยินข่าวเรื่องการยิงปืน มิตสุคุนิจ้องมองโทโกะ ชิเนทสึที่ดูสงบและใจเย็นอย่างยิ่งขณะดื่มชาจนหมดถ้วย มิตสุคุนิรู้สึกได้ถึงความมั่นคงอันแรงกล้าของโทโกะและเต็มไปด้วยความชื่นชม มิตสุคุนิจึงเริ่มจิบชาของตนเองบ้าง ทันใดนั้น โทโกะ ชิเนทสึก็ตะโกนลั่นราวกับฟ้าผ่า "คย๊ากกกส์!" มิตสุคุนิตตกใจจนเกือบทำถ้วยชาหลุดมือ โทโกะ ชิเนทสึบอกกับมิตสุคุนิว่า "เสียงปืนเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับเหล่าซามูไร และเสียงฟ้าผ่าก็เป็นเสียงธรรมชาติสำหรับนักบวชพุทธนิกายเซนเช่นกัน" ทั้งคู่หัวเราะด้วยกันและนี่เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่ลึกซึ้งที่อยู่ยืนนานจนกระทั่งโทโกะ ชิเนทสึตายจากไป

โทโกะ ชิเนทสึรู้จักกับนักบวช นักการเมือง นักเขียน นักวิชาการและนักดนตรีญี่ปุ่นจำนวนมาก อิทธิพลของท่านที่มีต่องานศิลปะและงานเขียนของญี่ปุ่นถูกประทับไว้ในหลายสิ่งและได้กลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรมเอโดะที่รุ่งเรืองในอีก 200 ปี ต่อมา

เกี่ยวกับบทความชุด: พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเล

1. กันจิน วาโจ (688-763): วัดโทโชไดจิในนาระ

2. รังเคอิ โดริว (1213-1278): วัดเคนโชจิในคามาคุระ

3. มุงาคุ โซเงน (1226-1286): วัดเอนงาคุจิในคามาคุระ

4. อิซซัง อิจิเนอิ (1247-1317): วัดซูเจนจิในอิสุ

5. อินเงน ริวคิ (1592-1673): วัดมันพูคูจิในอูจิ

6. โทโกะ ชิเนทสึ (1639-1696): วัดไดโอจิในโทจิงิ

0
1
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

เข้าร่วมการสนทนา

Tada Ratchagit หนึ่งปีมาแล้ว
เห็นรูปแล้วดูเป็นวัดที่น่าไปเยือนมากๆๆๆๆ อ่านบทความแล้วยิ่งอยากไปเยือนเข้าไปใหญ่เลยครับ ^^

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.