วัดเอนงาคุจิที่คามาคุระในฤดูใบไม้ผล

พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเลตอน 3 - นักบวชมุงาคุ โซเงน

วัดเอนงาคุจิถูกสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1282 เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนของดวงวิญญาณทหารจีนและญี่ปุ่น สงครามระหว่างราชวงศ์หยวน (1271-1368) ของจีนยุคเก่าและตระกูลโชกุนคามาคูระของญี่ปุ่นนำไปสู่การล้มตายจำนวนมหาศาลของเหล่าทหารระหว่างสงครามในปี 1274 และ 1281 ผู้สำเร็จราชการลำดับที่ 8 ของตระกูลโชกุนคามาคูระที่ชื่อโฮโจ โทคิมูเนะได้ร้องขอให้นักบวชชาวจีนระดับสูงที่ชื่อมุงาคุ โซเงนให้สร้างวัดเซนบริสุทธิ์แบบแท้ขึ้นในคิตะ-คามาคูระ

ดอกซากุระ

ในวัดแห่งนี้มีต้นซากุระขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก และต้นที่ตั้งอยู่ตรงหน้าประตูซันมอนถือว่าสวยงามที่สุดและเข้ากันได้ดีที่สุดกับความสง่างามของวัดนี้ มีม้านั่งอยู่ใกล้กับประตูหลายตัว ซึ่งคุณสามารถไปนั่งชมดอกซากุระได้นานเท่าที่คุณต้องการ แต่จะขอบอกจุดที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง นั่นคือต้นซากุระที่ดอกกำลังโรยตรงวัดชั้นในริวอินอัน ตรงนั้นคุณสามารถชมภาพมุมสูงของประตูซันมอนและศาลาใหญ่ได้ จุดนี้เป็นวิวที่ฉันชอบที่สุด

มุงาคุ โซเงน

มุงาคุ โซเงนเกิดเมื่อปี 1226 ในซ่งทางใต้ (ช่วงราชวงศ์ซ่ง ปี 1127-1279) และเป็นนักบวชเมื่ออายุได้ 11 ขวบ ในปี 1275 ทหารฝ่ายหยวนบุกโจมตีวัดที่ท่านพำนักอยู่ นักบวชทุกรูปต่างวิ่งหนี ยกเว้นอยู่เพียงรูปเดียว นั่นคือมุงาคุ โซเงน ท่านนั่งอย่างสงบอยู่บนพื้นหน้าองค์พระพุทธรูปใหญ่ ทหารฝ่ายหยวนตวัดดาบหมายจะปลิดชีพท่าน แต่ท่านมุงาคุ โซเงนกลับนิ่งไม่ไหวติง ท่านเริ่มท่องคำสอนของศาสนาพุทธด้วยเสียงที่ดังกึกก้อง

"ข้าพเจ้าได้ศึกษาโดยรอบด้านแล้วเพื่อค้นหาจักรวาลที่แท้จริง และในที่สุดก็ได้คำตอบมา นั่นก็คือสรรพสิ่งล้วนว่างเปล่า มนุษย์นั้นว่างเปล่า และแม้แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ว่างเปล่าเช่นกัน บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ตื่นรู้ทางจิตวิญญาณแล้ว และแม้ว่าท่านต้องการสังหารข้าพเจ้าด้วยดาบเล่มใหญ่ของท่าน ข้าพเจ้าก็ไม่ถือสากระไร เพราะข้าพเจ้าทราบแล้วว่าตนเองคือความว่างเปล่า อันแปลว่าถ้าท่านกวัดแกว่งดาบ ท่านก็จะฟันโดนเพียงสายลมฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นเอง" (แปลคร่าว ๆ)

เมื่อได้ยินคำสอนดังกล่าว ทหารผู้นั้นพลันบังเกิดความตื้นตันและเก็บดาบเข้าฝักไป เขาแสดงการคำนับต่อท่านมุงาคุ โซเงน ก่อนจะเดินจากไป

ขณะเดียวกัน ที่ญี่ปุ่น...

โฮโจ โทคิมูเนะขึ้นเป็นผู้บัญชาการของตระกูลโชกุนเมื่อญี่ปุ่นเผชิญภัยคุกคามจากการรุกรานของราชวงศ์หยวน โทคิมูเนะสร้างกองกำลังขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากซามูไรคนอื่น ๆ พร้อมกับกำหนดระเบียบปฏิบัติภายในของกองทหารใต้บัญชาการและสร้างป้อมปราการต่อต้านข้าศึก เขาได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังถูกรบกวนโดยความกลัวและความวิตกกังวลกับการโจมตีของฝ่ายหยวนที่ใกล้เข้ามา ซึ่งในเวลานั้น จิตวิญญาณของเขาได้รับการนำทางจากท่านมุงาคุ โซเงน โทคิมูเนะได้รับเชิญท่านให้ข้ามทะเลมายังวัดเคนโชจิเมื่อปี 1279 และแวะไปเยี่ยมเยียนท่านที่วัดนั้นบ่อย ๆ วันหนึ่งขณะที่กำลังสนทนากันอยู่นั้น มุงาคุ โชเงนหยิบปากกาขึ้นมาและเขียนคำ ๆ หนึ่งแก่โทคิมูเนะคือ บาคุ-บอน-โนะ (莫煩悩) ซึ่งมีความหมายดังนี้:

"เมื่อท่านเตรียมการอย่างใดอย่างหนึ่ง(ศึกสงคราม)เสร็จสิ้นแล้ว ก็จงอย่ากังวลมากจนเกินไป การคิดมากไปมีแต่จะทำให้ท่านคลั่ง ซึ่งไม่ก่อประโยชน์อันใดแม้แต่น้อย ความทุกข์เป็นเพียงสิ่งที่จิตท่านปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น"

เมื่อได้รับถ้อยคำดังกล่าว โทคิมูเนะก็พร้อมแล้วสำหรับการเผชิญทุกปัญหา ถ้อยคำนั้นได้ปัดเป่าความกลัวและความวิตกกังวลของเขาไปจนหมดสิ้น

วัดเอนงาคุจิถูกสร้างขึ้นหลังจากที่โทคิมูเนะผ่านพ้นช่วงวิกฤติการจู่โจมจากราชวงศ์หยวนมาได้ โทคิมูเนะต้องการให้ซามูไรนายอื่นได้เรียนรู้วิธีเอาชนะปัญหาต่าง ๆ โดยคำสอนของพุทธวิถีเซนในแบบเดียวกับที่เขาได้ร่ำเรียนมา และเขาก็ปรารถนาเช่นกันว่าจะให้วัดเอนงาคุจิเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติธรรมแบบเซนที่แท้จริงเหมือนกับวัดเคนโชจิ (ที่สร้างขึ้น 30 ปีก่อนวัดเอนงาคุจิ) ในคามาคุระ มุงาคุ โซเงนเป็นหัวหน้านักบวชของวัดเอนงาคุจิ

โทคิมูเนะและมุงาคุคงจะคุยกันเรื่องอนาคตของญี่ปุ่นด้วยกันบ่อย ๆ แน่ แต่ฉันมั่นใจว่าท่านทั้งสองคงคาดไม่ถึงว่าจะมี ดอกซากุระที่สวยงามผลิบานในวัดเอนงาคุจิเมื่ออีก 730 ปีให้หลัง!

เกี่ยวกับบทความชุด: พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเล

ในบทความชุดนี้ ฉันอยากจะขอแนะนำให้รู้จักนักบวชพิเศษหกรูปจากจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อศาสนาพุทธในญี่ปุ่นระหว่างช่วงศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 17

1. กันจิน วาโจ (688-763): วัดโทโชไดจิในนาระ

2. รังเคอิ โดริว (1213-1278): วัดเคนโชจิในคามาคุระ

3. มุงาคุ โซเงน (1226-1286): วัดเอนงาคุจิในคามาคุระ

4. อิซซัง อิจิเนอิ (1247-1317): วัดซูเจนจิในอิสุ

5. อินเงน ริวคิ (1592-1673): วัดมันพูคูจิในอูจิ

6. โทโกะ ชิเนทสึ (1639-1696): วัดไดโอจิในโทจิงิ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Engakuji Temple

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.