ทีกำลังจะล็อก ประตูห้อง บน รถไฟสำราญเจ็ดดาว (Seven Stars in Kyushu) ของการรถไฟคิวชูก็ ชลอเข้าจอดที่สถานี เส้นทางเดินทางในเอกสารที่เพิ่งเปิดอ่านบอกว่า รถไฟเคลื่อนออกจากสถานีฮาคาตะมุ่งหน้าซากะ จังหวัดเก่าแก่่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะคิวชู
“ถึงที่หมายแล้วเหรอ” พพ (เพื่อนรุ่นพี่) ถามอย่างแปลกใจ
“ยังหรอก” ทีเดาด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจราวกับเคยมาแล้ว “เรามารถไฟหวานเย็นนะพี่ รถจอดสถานีรายทางทุกสถานี”
แล้วทีก็เปลี่ยนน้ำเสียงเมื่อเดินไปถึงประตูรถ “พี่ มาเร็วๆ เด็กเยอะแยะ สนุกจัง”
ไม่ทันได้สนใจว่ารถจอดสถานีชื่ออะไร เอาเป็นว่ารถจอด ณ สถานีเล็กๆ แห่งหนึ่ง
ณ ริมทางเดิน กลางทุ่ง นอกสถานี เด็กนักเรียนตัวน้อยๆ มายืนเฮๆ กระโดดโลดเต้น โบกมือไหวๆ ต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยว ส่วนบนสถานีมีตัว mascot ตัวปุกปุย สีสันสดใส เดินไปเดินมา
ทีกระโดดลงไปจากรถไฟ ชูมือทั้งสองข้างขึ้นสุดแขน โบกให้เด็กๆ อย่างสนุกสนาน มั่นใจว่ารถไฟจะหนีไปไหนไม่ได้ รถทั้งขบวนเป็นของทัวร์นี้ ถ้าเขาจะออกรถ พนักงานตั้งหลายคนมาไล่ต้อนเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวขึ้นรถเองแหละ
พนักงานประจำรถเนรมิตธงชาติไทยออกมาให้ผู้โดยสารที่เริ่มก้าวลงมาจากรถไฟที ละคน ทุกคนรับธงมาโบกให้เด็กๆ ถ่ายรูปกับมาสค็อต เซลฟี่ตัวเองโดยมีเด็กๆ เป็นฉากหลัง ช่างกล้องของรถไฟและช่างกล้องประจำทัวร์ทำหน้าที่บันทึกทุกภาพทั้งที่ผู้ โดยสารขอร้องและไม่ได้ขอร้อง ทุกคนเริ่มร่าเริงเหมือนเด็กๆ เป็นการละลายพฤติกรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก ไม่ต้องให้ผู้โดยสารฝืนเล่นเกมแปลกๆ เพื่อแนะนำตัวให้รู้จักกัน
ทุกคนถูกสอนให้โบกมือตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ทั้งโบกมือเดียว โบกสองมือ พอรถเคลื่อนออกจากสถานีแรก ก็มีคนโบกมือส่ง บางคนกระมิดกระเมี้ยนโบกมือลา มาถึงตรงนี้ทุกคนเริ่มโบกอย่างสนุกสนาน แล้วต่อไปก็โบกรับ โบกลากันไปตลอดทาง
ลองโบกมือข้างเดียว โบกช้าๆ อย่างสง่างามเหมือนกำลังหัดเป็นเจ้าหญิง แต่ไม่สนุกเลย ทีก็เลยโบกสองมือ รู้สึกว่าเป็นการแสดงความยินดีและจริงใจดี ความขัดเขินหายไปไหนไม่รู้ ก็คนที่สถานีโบกก่อน ไม่โบกกลับก็เสียมารยาทซิ แต่ไม่ว่าจะโบกแบบไหน ในใจก็พองเหมือนกับเราเป็น เซเลบฯ ยังไงยังงั้น