ทีบอกเพื่อนว่ามาคิวชูทั้งที ขอไปซัทสึมะ แคว้นก้าวหน้าแห่งปลายสมัยโชกุน ก่อนขึ้นสมัยเมจิ เพื่อนพานั่งรถไฟไปลงสถานีคาโงะชิมะ ทำให้ทีเสียเวลาบ่น (ในใจ) ตั้งนาน มารู้ว่าซัทสึมะ สมัยโน้น คือคาโงะชิมะสมัยนี้ก็ตอนที่ก้าวออกไปหน้าสถานี แล้วไปอ่านป้ายหน้าอนุสารวรีย์ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีรูปปั้นคนยืนบ้างนั่งบ้างอยู่รอบๆ
ป้ายที่อนุสาวรีย์บอกว่า
“สัตซึมะ ตอนนี้คือคาโงะชิมะ ได้สร้างผู้คนที่ฉลาดเลิศล้ำและมองการณ์ไกลในสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868) ในปี ค.ศ. 1865 หนุ่มสัทซึมะ 17 คนถูกลักลอบส่งตัวออกไปยุโรปและอเมริกา โดยฝ่าฝืนคำสั่งปิดประเทศของโตกูกาวะ เพื่อเรียนเทคโนโลยีทันสมัยในโลกตะวันตก และกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาสังคมฟิวดัลให้ทันสมัย
ในโอกาสที่เมืองของเรามีประชากรถึง 500,000 คน เราที่เป็นเชื้อสายของผู้อุทิศตนเพื่อสังคมเหล่านั้นจึงสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเฉลิมฉลองอุดมการณ์และหวังว่าเราจะคงมุ่งมั่นเดินตามเส้นทางของคนกลุ่มนี้ในอันที่จะสร้างอนาคตให้ดียิ่งขึ้น”
ทีประทับใจกับข้อความรักชาติรักสังคมพวกนี้อยู่แล้ว ประกอบกับความชื่นชมท่านไดเมียวที่เห็นการณ์ไกล และกล้าหาญเป็นทุนเดิม ยิ่งชอบใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่า คนธรรมดา พลเมืองร่วมชาติ ร่วมเมืองเดียวกัน ได้รับเกียรติสูงเป็นอนุสาวรีย์ในพื้นที่สาธารณะ แถมด้วยป้ายที่ให้เกียรติกับ Shinya Nakamura ประติมากรผู้สร้างงาน ด้วยการมีชื่อของเขาติดอยู่บนป้ายด้วย และก็นึกทึ่งที่คนที่นี่เขามีวิธีหาโอกาส เพราะการสร้างอนุสาวรีย์เนื่องโอกาสที่เมืองมีพลเมืองถึง 500,000 ในปี ค.ศ. 1892 เป็นโอกาสที่ทีนึกไม่ถึงจริงๆ
เรื่องของนักศึกษาซัทสึมะ ๑๗ คน ฝรั่งเขียนไว้เป็นหนังสือ และคนญี่ปุ่นนำไปแต่งเป็นนวนิยายด้วย แต่ก็มีคนฉงนฉงายว่า สร้างทั้งทีทำไมไม่สร้างให้ทั้ง 19 คนที่เดินทางไป ขาด Takami Yaichi จากแคว้นโทสะ (แคว้นแดนเกิดของเรียวมะ คนเก่งของที) และ Hori Takayuki จากนางะซากิ เพราะเหตุผลว่า สองหนุ่มไม่ได้เกิดในสัทซึมะ แต่ที่ University College ในลอนดอน ที่อนุสาวรีย์ญี่ปุ่น มีชื่อครบทั้ง 19 คน แถมด้วยอีก 5 คนจากโชสึ ป้ายที่อนุสาวรีย์นั้นเขียนไว้ว่า
“เมื่อจิตจากแดนไกลมารวมกัน ซากุระก็แบ่งบาน”
ในทางกลับกัน Nakai Hiromu ที่เกิดในสัทซึมะก็ไม่ได้รับการยกย่องในสัทซึมะ เพราะหนีออกจากสัทซึมะตั้งแต่วัยรุ่น แล้วแคว้นโทสะเป็นผู้ส่งไปอังกฤษ เขาคนนี้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาสัทซึมะในอังกฤษเพราะเดินทางไปก่อน และกลับมาทำงานในโครงการยักษ์ใหญ่หลายโครงการเพื่อพาญี่ปุ่นสู่ความแข็งแกร่งในฐานะเจ้าเมืองเกียวโต
กลุ่มนักศึกษา 19 คนนั่งเรือกลไฟขื่อ ออสเตรเลียน ของพ่อค้าสก็อตที่นางาซากิ ไปถึงเซาธ์แฮมตันในอังกฤษวันที่ 21 มิถุนายน 1865 แล้วกระจายไปอยู่ตามบ้านของอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ บางคนข้ามช่องแคบไปภาคพื้นยุโรป บางคนไปสหรัฐอมริกา บางคนอยู่แค่ปีเดียว บางคนอยู่นานถึง 10 ปี เมื่อกลับมาประเทศญี่ปุ่น มีผลงานหลากหลายเพื่อญี่ปุ่นสมัยใหม่ เช่น เป็นทูต(และต่อมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ) เป็นคนปรับระบบการศึกษาในญี่ปุ่่นให้ทันสมัย (เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนแรก เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Hitotsubashi อันมีชื่อเสียงด้วย) เป็นนักอุตสาหกรรม ที่ทำให้โอซาการุ่งเรืองเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นผู้อำนวยการคนแรกของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว เป็นต้น