Tokyo Sky Tree สู่อนาคตของโตเกียว

จากโตเกียวทาวเวอร์ สู่ โตเกียวสกายทรี

คุณรู้หรือไม่ว่า โตเกียวในปี 1964 นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ภาพของเครื่องบินที่บินวนบนท้องฟ้าเป็นวงกลมห้าห่วงตามสัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิก และทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนถนนสายที่สามต้องแหงนหน้ามองดูอย่างปลื้มปิติ คือหนึ่งในฉากจำของภาพยนตร์ในดวงใจสำหรับใครหลายคนอย่าง Always: Sunset on Third Street (ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม) ที่สะท้อนวันเวลาแห่งความรุ่งเรืองในวันที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

เช่นเดียวกับภาพ “โตเกียวทาวเวอร์” สัญลักษณ์แห่งการสร้างประเทศของญี่ปุ่นสมัยใหม่ ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าด้วยเวลาเพียงชั่วหนึ่งทศวรรษ ญี่ปุ่นกลับพลิกประวัติศาสตร์จากการเป็นผู้แพ้สงครามมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอันดับต้นๆ ของโลก ในวันที่เริ่มมีทีวีสี ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายๆ อย่างอันเป็นสัญลักษณ์ของสังคมสมัยใหม่เข้ามาในชีวิตประจำวันของพวกเขา

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ นั่นเป็นเวลาเดียวกันกับที่โตเกียวทาวเวอร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุครุ่งเรืองหลังสงครามโลกนั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณระบบดิจิตอลให้กับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป เพราะความสูงเพียง 333 เมตร ที่เคยทำให้คนญี่ปุ่นแหงนมองด้วยความภาคภูมิใจนั้น ไม่สามารถทำให้สัญญาณถูกส่งไปได้โดยไม่ถูกรบกวนโดยตึกสูงที่อยู่รายรอบ

เมื่อโจทย์ใหม่ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยคำตอบเดิม หอคอยแห่งใหม่ที่ชื่อว่า “โตเกียวสกายทรี” จึงถูกสร้างขึ้นบนอีกฟากของแม่น้ำสุมิดะให้มีความสูงถึง 634 เมตร เพื่อทดแทนโตเกียวทาวเวอร์ในการเป็นหอกระจายสัญญาณสำหรับสถานีโทรทัศน์และวิทยุของโตเกียว ด้วยความสูงเพียงพอที่สัญญาณจะไม่ถูกรบกวนด้วยตึกสูงอื่นๆ

จากการเปิดใช้โตเกียวทาวเวอร์ในปี 1958 มาจนถึงโตเกียวสกายทรีในปี 2012 สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนหน้าค่าตาไปอย่างมากมาย นั่นรวมถึงความรุ่งเรืองและถดถอยทางเศรษฐกิจ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงอันน่าสนใจที่เกิดกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่บ้างก็สมัครใจหวนกลับไปหาวัฒนธรรมเรียบง่ายลึกซึ้งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ค่ากับความจริงตามธรรมชาติ บ้างก็ชื่นชอบสิ่งสังเคราะห์มากกว่าธรรมชาติ และปรารถนาพื้นที่สำหรับการหลบหนีจากความจริงในแบบโอตาคุ

ไม่เว้นแม้แต่การเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าเป็นหลัก มาเป็นประเทศผู้ส่งออกวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ในวันที่การเดินเล่นในย่านอาโอยามะของโตเกียวไม่ต่างอะไรกับการเดินชมงานสถาปัตยกรรมชั้นดีและศิลปะการจัดวางอันน่าตื่นตาตื่นใจ ที่อยู่ร่วมกับความลึกซึ้งและเรียบง่ายแบบที่หาดูได้เฉพาะในญี่ปุ่น หนึ่งในผู้นำทางด้านรสนิยมของโลก

“ล้มลงเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นแปดครั้ง” สุภาษิตญี่ปุ่นที่สะท้อนให้เห็นสปิริตที่ฝังอยู่กับสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานนี้ ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าต่อให้ต้องผ่านเรื่องเลวร้ายอีกสักกี่ครั้ง เราก็ยังมีความหวังกับพวกเขาเสมอ

แม้แต่กำลังใจและความช่วยเหลือครั้งใหญ่ที่หลั่งใหลมาจากผู้คนในมุมต่างๆ ของโลก เพื่อส่งให้กับชาวญี่ปุ่นในวันที่ต้องเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงอย่างมหันตภัยสึนามิเมื่อปี 2011 ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่านอกจากเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมแล้ว หลายๆ คนยังหวงแหนความเป็นญี่ปุ่นไม่น้อยกว่าคนญี่ปุ่นเอง

และเมื่อโตเกียวได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งในปี 2020 แน่นอนว่านั่นไม่ได้สร้างความดีใจให้กับคนญี่ปุ่นเท่านั้น แม้แต่เราที่เป็นคนนอกเองก็ยังตั้งหน้าตั้งตารอให้ถึงวันนั้นอย่างใจจดใจจ่อว่าสังคมที่ไม่ได้ถนัดแต่การสร้างสิ่งที่มองเห็นด้วยตา แต่เปี่ยมด้วยศักยภาพในการส่งออกสุนทรียะที่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึกอย่างความงาม เรียบง่าย ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน สองคล้อง ขัดแย้ง น่าค้นหา ไปจนถึงความบ้าคลั่ง รวมถึงนิสัยที่หลงใหลในความสมบูรณ์แบบ พอๆ กับชื่นชมความไม่สมบูรณ์แบบนี้ จะพาเราไปทางไหน ในวันที่โลกเต็มไปด้วยโจทย์ใหม่ซึ่งไม่ได้ต้องการเพียงแต่คำตอบในเชิงกายภาพ แต่เป็นจิตวิญญาณที่จะช่วยเติมเต็มความหมายในวันข้างหน้า

ก็ใครกันจะช่วยพาเราไปหาอนาคตได้ดีกว่าโดราเอมอน ตัวแทนความฝันของเด็กทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมาสคอตของกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ กับไทม์แมชชีนของเขาที่จะพาเราเดินทางข้ามเวลาได้เพียงแค่เปิดลิ้นชักออกมาเท่านั้น

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.