ศาลเจ้ายะสุคุนิ ใจกลางกรุงโตเกียว

ศาลเจ้าที่สร้างอุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในสงคราม

กรุงโตเกียวจุเต็มไปด้วยวัดและศาลเจ้าที่โดดเด่นและน่าสนใจอยู่มากมาย ต่างก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมานับย้อนหลังไปหลายร้อยปี หนึ่งในศาลเจ้าที่โดดเด่นและน่าสนใจที่สุดในใจกลางโตเกียว นอกจาก ศาลเจ้าเมจิ จินกุ (Meiji Jingu) ที่สร้างอุทิศแด่องค์จักรพรรดิเมจิ และพระมเหสี จักรพรรดินีโชะเก็นแล้ว รองลงมาก็ต้องยกให้ ศาลเจ้ายะสุคุนิ (Yasukuni)

ศาลเจ้ายะสุคุนิ เป็นศาลเจ้าในลัทธิชินโตที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1869 สร้างอุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในสงคราม ตั้งแต่สงครามกลางเมืองในสมัยปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration), สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง, สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น, สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, กรณีแมนจูเรีย (Manchurian Incident) ไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ดวงวิญญานประมาณ 2.5 ล้านดวง สิงสถิตย์อยู่ ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ และรวมถึงดวงวิญญาน 14 ดวง ที่ได้ชื่อเป็นอาชญากรสงคราม!

ศาลเจ้ายะสุคุนิในวันต้นฤดูใบไม้ผลิของปี 2018 นั้น สงบเงียบ และงดงาม ฉันกับผู้ร่วมทางเดินผ่านประตูหลัก ซึ่งเป็นประตูไม้ขนาดใหญ่ที่ดูขลึมขลัง แล้วพบว่าลานศาลเจ้านั้นเต็มไปด้วยต้นซากุระ กล่าวกันว่าทั่วบริเวณศาลเจ้ามีต้นซากุระประมาณ 500 ต้น แต่น่าเสียดายที่ในต้นเดือนมีนาคมมีอยู่เพียงสองต้นที่ออกดอกบานสะพรั่ง เนื่องจากเป็นซากุระพันธ์บานเร็ว ส่วนต้นซากุระที่เหลือจะพากันบานในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ชมภาพได้ที่บทความนี้ ดอกซากุระที่ศาลเจ้ายะสุคุนิ หากคุณมาโตเกียวในช่วงฤดูดอกซากุระ อย่าพลาดศาลเจ้ายะสุคุนิ!

นอกจากอาคารหลักของศาลเจ้าที่ดูงดงามขลึมขลังในแบบชินโตแล้ว ภายในบรินวณศาลเจ้ายังมี ศาลาโนะงะคุโดะ (Nohgakudo) ซึ่งเป็นเวทีสำหรับแสดงโนะกลางแจ้ง, อาคารยุชุคัน (Yushukan) เป็นพิพิทธภัณฑ์สงครามแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น และสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม มีบ่อปลาคาร์ฟขนาดใหญ่อยู่กลางสวน พร้อมโรงน้ำชาแบบเก่า ศาลเจ้าและสวนญี่ปุ่นเข้าชมได้ฟรี ส่วนพิพิทธภัณฑ์ยุชุดันเสียค่าเข้าชมคนละ 800 เยน ศาลเจ้าเปิดให้ชมทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 6.00-18.00 น ส่วนพิพิทธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น

สถานีรถไฟที่ใกล้กับศาลเจ้าและใช้เวลาเดินเพียงไม่กี่นาทีคือ สถานีคุดันชิตะ (Kudanshita) ซึ่งมีรถไฟใต้ดินวิ่งผ่านอยู่สามสายคือ ฮันโซะมอน (Hanzomon), โตะไซ (Tozai) และชินจุกุ (Shinjuku)

5
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.