พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งเซ็นได

สรรเสริญเหล่านักประพันธ์แห่งเซ็นไดและมิยางิ

ช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นหมายถึงเวลาของฝนตก แต่อย่างน้อยในเซ็นไดอากาศก็ค่อนข้างเย็น และจะมีบางวันที่คุณอาจต้องเหงื่อออกถ้าใส่ชุดกันหนาว ถึงฉันจะรู้สึกอยากอยู่ในที่ร่ม แต่ก็ไม่ได้อยากอุดอู้อยู่ในห้อง นักท่องเที่ยวก็คงรู้สึกเหมือนกัน ว่าจะเสียเวลาอยู่แต่ในโรงแรมทำไมในเมื่อมีเมืองใหญ่รอให้เราไปสำรวจอยู่ ความคิดแรกของฉันเลยคือการไปที่ห้องสมุดท้องถิ่นเพื่อหาความรู้ แต่แล้วฉันก็ฉุกคิดถึงอะไรบางอย่างได้ ที่ไหนล่ะจะเหมาะสมสุดสำหรับการเรียนรู้เรื่องงานเขียนในเซ็นได? แน่นอนว่าคำตอบก็ต้องเป็นพิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งเซ็นไดนั่นเอง

ก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ต้องเดินผ่านสวนที่มีบ่อปลาไปก่อน ขณะที่เดินคุณจะสังเกตได้ถึงความสร้างสรรค์ของสถาปัตยกรรมอาคาร อันมีจุดเด่นอยู่ที่ช่องรูปคล้ายโดนัทที่เจาะทะลุชั้นสองทั้งชั้น ทางเดินของสวนจะพาผ่านไปยังพื้นที่วงกลมซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่บางครั้งมีคนนำบทกวีมาอ่านกันตรงนี้ โดยส่วนตัวแล้วฉันอยากจะชมธรรมชาติให้เพลินกว่านี้หน่อยด้วยการเดินไปตามทางที่ตัดผ่านทั้งสวน แต่วันนั้นฝนตกเลยต้องหลบเข้าข้างใน เมื่อเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้ว ฉันรู้สึกดีใจมากที่ไม่เห็นโต๊ะรอเก็บเงินค่าธรรมเนียม เพราะฉันรู้สึกว่าแบบนั้นมันออกจะตรงเกินไปและดูไม่ค่อยน่าต้อนรับ ฉันเดินดูและเก็บใบปลิวแจกฟรีที่มีข้อมูลกิจกรรมรอบเมืองจากชั้นวางหนังสือ แล้วจู่ ๆ กระเป๋าฉันก็เต็มไปด้วยโบรชัวร์ฟรีโดยไม่รู้ตัว ชั้นหนึ่งกับชั้นสองทั้งชั้นสามารถเดินเล่นได้โดยอิสระ พ่อแม่หลายคนพาลูกมาสนุกในบริเวณเด็กเล่นและที่ห้องสมุดภาพสำหรับน้อง ๆ หนู ๆ ในบริเวณเรียนรู้ที่สามารถนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาทานได้ตามใจชอบนั้นกินพื้นที่วงกลมตรงรูปโดนัทขนาดใหญ่ของตึก ที่นั่นมีของฟรีเพียบเลย คุณสามารถใช้เวลาอยู่ที่นี่ได้หลายชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู และก็เหมือนจะมีหลายคนที่ทำแบบนั้นด้วย ถ้าเกิดคุณหิว ก็มีร้านอาหารขายบะหมี่ญี่ปุ่นให้บริการอยู่ แล้วก็ยังมีตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติตั้งอยู่หน้าทางเข้าประตูใหญ่ด้วย

ที่โต๊ะต้อนรับข้างบันไดขึ้นชั้นสามคุณจะต้องจ่ายเงินค่าเข้า ตรงนี้ยังมีผลงานและประวัติของนักเขียนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากวางขายด้วย พนักงานจะส่งแผ่นพับที่เป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนมาให้เหมือนกับส่วนอื่น ๆ ในพิพิธภัณฑ์ และส่งคุณขึ้นไปให้เดินท่องสำรวจชั้นบน

พื้นที่จัดแสดงถาวรของพิพิธภัณฑ์นั้นน่าประทับใจมาก โถงขนาดใหญ่แห่งนี้นำนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นจากเซ็นไดและจังหวัดมิยางิราว 20 ถึง 30 ท่านหรือมากกว่านั้นมาเล่าให้โลดแล่นอีกครั้ง คุณสามารถเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของนักประพันธ์ ผลงานจำนวนมากของพวกท่าน และอาจได้เห็นกระทั่งหุ่นจำลองของนักประพันธ์บางท่าน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้พยายามเน้นย้ำกับคุณว่าวรรณคดีไม่ใช่เพียงแค่หนังสือเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงทั้งนิตยสาร เรียงความ เพลง และถ้อยคำในบทกวี บทละคร และภาพยนตร์ มันสามารถเป็นได้ทั้งความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง หรือบ่งบอกความหมายของตัวตน หรือเสียดสีการเมืองก็ได้ ฉันรู้สึกดีใจที่ความรู้ด้านวัฒนธรรมและภาษาญี่ปุ่นของฉันอยู่ในระดับดีพอที่รู้จักนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่สองท่าน ท่านแรกคือ โดอิ บันซุย (1871-1952) ผู้แต่งเนื้อร้องอันโด่งดังของเพลงนิทานพื้นบ้านเซ็นไดอันเป็นที่นิยมและงานแปลหนังสือสุดคลาสสิคที่เปรียบได้กับกวีโฮเมอร์ของนักอ่านชาวญี่ปุ่น และอีกท่านหนึ่งก็เป็นยอดอัจฉริยะและมีชื่อเสียงโด่งดังกว่าเพราะไม่ได้เป็นชาวญี่ปุ่น ท่านคือหลู่ ซุ่น (1881-1936) ขณะศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยแพทย์เซ็นไดในปีค.ศ. 1904 ท่านก็ได้รู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน ท่านอาศัยอยู่ในเซ็นไดเพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เพราะต้องย้ายไปโตเกียวและกลับสู่บ้านเกิดที่แผ่นดินจีน ท่านเริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมจีนสมัยใหม่ แม้จะน่าสนใจมากที่ได้เห็นทั้งใบหน้าและสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของนักประพันธ์หลายท่าน แต่การได้อ่านหนังสือฟรีและดูวิดีโอ (ที่นี่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ต้องขออภัยด้วย!) ฉันก็รู้สึกว่าใช้เวลาหมดไปเยอะมากจริง ๆ ก็อย่างที่บอกไปว่าที่นี่ไม่มีภาษาอังกฤษเลย เป็นเรื่องน่าเห็นใจเวลาพยายามจะอธิบายความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมญี่ปุ่นให้คนต่างแดนฟัง ระดับภาษาญี่ปุ่นเท่าที่ฉันมีทำให้ฉันอ่านรู้เรื่องแค่เพียงส่วนเล็กส่วนน้อยเท่านั้น แม้จะยังเป็นมือใหม่ในโลกของวรรณกรรมญี่ปุ่น แต่ฉันก็รู้สึกว่าต่อให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษมันก็ยังเยอะเกินกว่าที่จะรับไหวอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็รู้สึกมีแรงจูงใจให้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รู้ว่าตัวเองยังขาดตกบกพร่องขนาดไหน

ส่วนจัดแสดงแบบพื้นหมุนในอีกโถงหนึ่งจะเน้นไปที่นักประพันธ์แต่ละท่านโดยเฉพาะหรือเชื่อมโยงวรรณกรรมเข้ากับสื่อประเภทอื่น (เช่น วรรณกรรมสำหรับเด็กโดยใช้ศิลปะ) เมื่อได้ดูเว็บไซต์เกี่ยวกับงานจัดแสดงทั้งในอดีตและที่จะมีอนาคต ฉันรู้สึกว่าส่วนจัดแสดงแบบพื้นหมุนตรงนี้น่าจะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไปได้มากกว่าการจัดวางแบบปกติ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์หรือโทรศัพท์ไปที่พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมเซ็นไดตั้งอยู่ค่อนข้างห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวจุดอื่น สามารถเดินทางไปได้โดยใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 20 นาทีด้วยรถบัสจากสถานีเซ็นไดหรือใช้เวลาเดินเท้า 20 ถึง 30 นาทีจากสถานีอาซาฮิกาโอกะ (ห่างจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เซ็นไดเพียง 5 นาที) ที่พิพิธภัณฑ์มีพื้นที่จอดรถรองรับได้ 40 คัน ด้วยความที่ตั้งอยู่ค่อนข้างห่างไกลและเก็บค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ราคา 400 เยน (ไม่แพงมาก แต่ก็ไม่ถือว่าถูกนักสำหรับพิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่น) ฉันจึงขอแนะนำว่าที่นี่เหมาะสำหรับครอบครัวที่อยากเลือกชมงานจัดแสดงแบบพิเศษ หรือผู้ที่ความรู้ภาษาญี่ปุ่นแข็งแรงหรือมีล่ามมาด้วย หรือไม่ก็ผู้ที่เป็นพันธุ์แท้วรรณคดี

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.