ยามาเตะ 111

ตามรอยชาวต่างชาติในโยโกฮาม่า 11 - มอร์แกนและยามาเตะ

เจ้าของเดิมของยามาเตะ 111 คือ จอห์น เอ็ดเวิร์ด ลาฟฟิน (ลูกครึ่งชาวญี่ปุ่น-อเมริกา ผู้บริหารบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือและแลกเปลี่ยนเงินตรา) ด้านหน้าของตัวบ้านมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมสเปน ผนังฉาบปูนเรียบ มีทางเดินหลังคาโค้ง และมุงกระเบื้องดินเผาลาดต่ำ สถาปนิกชาวอเมริกา เจ. เอช. มอร์แกน ได้ออกแบบไว้ 4 แบบ และลาฟฟินเลือกแบบที่ 4 มอร์แกนเป็นสถาปนิกที่ทำอย่างสุดความสามารถในการก่อสร้างให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ

ยามาเตะ 111

เมื่อคุณมองไปยังบ้านจากประตูรั้ว ยามาเตะ 111 ดูเหมือนเป็นบ้าน 2 ชั้น แต่ที่จริงแล้ว ถ้ามองจากสวนกุหลาบของสวนมินาโตะ-โน-ไมอิรุ-โอกะ จะเห็นได้ว่าเป็นบ้าน 3 ชั้น โถงทางเข้ามีลักษณะแคบ สูง เปิดโล่ง มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นอื่นๆ บริเวณนี้บางครั้งมีการตกแต่งด้วยดอกไม้ตามฤดูกาลหรือเครื่องประดับตกแต่งอื่นๆ จากห้องรับประทานอาหารบนชั้น 1 นี้ มองเห็นท่าเรือโยโกฮาม่าได้ ชานบ้านที่กว้างขวาง ซึ่งอยู่ต่ำลงไป ปัจจุบันเปิดเป็นห้องน้ำชา “ร้านอิโนกิ”

พ่อของจอห์น เอ็ดเวิร์ด คือ โทมัส เมลวิน เอ็ดเวิร์ด เมื่อครั้งที่เขาเป็นทหารเรือในกองทัพอเมริกา เขาถูกเรียกตัวให้มาซ่อมแซมเรือรบที่โยโกฮาม่า ในช่วงวันหยุดครั้งหนึ่ง เขาได้ไปเที่ยวที่ฮาโกเน่-ยูโมโตะ และได้พบกับมิโยะ อิชิอิ ภรรยาในอนาคตที่นั่น ทั้งสองตกหลุมรักกัน และโทมัสตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ที่ญี่ปุ่น ทั้งคู่แต่งงานและมีบุตรด้วยกัน 8 คน จอห์นเป็นบุตรคนแรก ทั้ง 8 คนเกิดและเติบโตที่โยโกฮาม่า โทมัสเริ่มทำงานให้กับบริษัท นิปปอน ยูเซน ในปี 1886 หลังจากนั้นได้เปิดบริษัทของตัวเอง ในปี 1926 โทมัสขอให้มอร์แกนสร้างบ้านให้แก่จอห์น บุตรชายที่เพิ่งแต่งงาน

มอร์แกนได้เพิ่มเฉลียงที่ชั้น 2 เพื่อใช้เป็นห้องนอน ตามความต้องการของครอบครัวลาฟฟิน เฉลียงที่มีฉากกั้นนี้ ใช้เป็นห้องนอนในฤดูร้อน (ชั้น 2 ของตัวบ้านเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันพิเศษ)

ผลงานของมอร์แกนในเขตยามาเตะ

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตสร้างความเสียหายแก่โยโกฮาม่าเป็นอันมาก เมืองทั้งเมืองต้องสร้างขึ้นใหม่ มีชาวต่างชาติและบริษัทต่างชาติอยู่มากมายที่นี่ มอร์แกนได้รับการว่าจ้างให้สร้างสำนักงานใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน โบสถ์ และอื่นๆ เขาจึงย้ายสำนักงานจากโตเกียวมาอยู่ที่โยโกฮาม่า และทำงานอย่างเต็มกำลัง

น่าเศร้าที่อาคารที่มอร์แกนได้ออกแบบไว้เสียหายและถูกเพลิงไหม้จากการโจมตีทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบทั้งหมด แต่เรายังคงได้เห็นผลงานของเขาได้บ้างในเขตยามาเตะ ได้แก่ เบอร์ริค ฮอลล์ โบสถ์คริสต์โยโกฮาม่า และประตูทางเข้าด้านหน้าของสุสานชาวต่างชาติโยโกฮาม่า

ชีวิตของมอร์แกนในอเมริกา

มอร์แกนเกิดที่บัฟฟาโล่ นิวยอร์ก วันที่ 10 ธันวาคม 1868 ย่าของเขาอพยพมาจากเวลส์ สหราชอาณาจักร และตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่บัฟฟาโล่ พ่อของเขาเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ฝีมือดี มอร์แกนเริ่มมีอาชีพเป็นสถาปนิกในปี 1889 เมื่ออายุได้ 21 ปี เขาเริ่มจากการเป็นช่างเขียนแบบที่สำนักงานของ ดี. ดับเบิ้ลยู. แดนเนล ไม่นานหลังจากนั้น เขามีโอกาสออกแบบบ้านหลังใหม่ให้กับน้องสาว และโชคดีที่บ้านหลังนั้นได้รับการกล่าวถึงในนิตยสาร

มอร์แกนก้าวจากช่างเขียนแบบไปเป็นสถาปนิกที่ จอร์จ เอ. ฟูลเลอร์ บริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ที่ฟูลเลอร์เขารับผิดชอบในงานก่อสร้างอาคารต่างๆ มากมาย เช่น โรงแรม อาคารที่อยู่อาศัย โรงละคร และอาคารสำนักงาน ทั้งที่วอชิงตัน ดี. ซี. และนิวยอร์ก แต่ผลงานส่วนใหญ่นั้นไม่เหลืออยู่แล้ว แต่คุณสามารถชมผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ฮิปโปโดรม เธียเตอร์ ได้บนยูทูป

มอร์แกนแต่งงานกับออกัสต้า เจนีวีฟ โซสโซว มีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คน ชีวิตคู่ของทั้งสองไม่ราบรื่นและเลือกที่จะแยกทางกัน

บ้านของมอร์แกน

ในปี 1931 เขาสร้างบ้านบนเนินเขาในเมืองฟูจิซาว่า คานากาวะ เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่กับภรรยาชาวญี่ปุ่น ทามาโนะ อิชิอิ (เธอทำหน้าที่เลขานุการให้เขาด้วย) ในภาพถ่ายที่หน้าบ้านของเขา มอร์แกนดูผ่อนคลายมากในชุดกิโมโน เขาต้องกำลังเพลิดเพลินอยู่กับเพื่อนบ้านในช่วงงานปีใหม่อยู่แน่ น่าเสียดายที่บ้านของมอร์แกนเสียหายจากเพลิงไหม้ที่น่าสงสัย ในปี 2007 หลังจากที่เมืองฟูจิซาว่าและทรัสต์แห่งชาติญี่ปุ่นเพิ่งมีมติให้อนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.