สวนสึรุคาเมะของคอนจิ-อินในเกียวโต

ยอดนักจัดสวนลำดับ 2 - โคโบริ เอนชู

การจัดสวนคือศิลปะแบบสามมิติ เมื่อเราได้เดินทั่วสวน สัมผัสต้นไม้ สูดกลิ่นบุปผา และเพลิดเพลินกับวิวจากหลายมุมมอง ทุกสิ่งรวมกันเป็นความอิ่มเอมใจ แต่เมื่อเรามองสวนจากในห้อง ก็เหมือนกับการชมภาพที่เคลื่อนผ่านบานหน้าต่าง

เหล่าผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าถ้าหากจะนิยามเป็นภาพเขียนล่ะก็ สวนสึรุ-คาเมะของคอนอิน-จิก็คงจะเปรียบได้ดั่งภาพ "วายุและเทพเจ้าสายฟ้า" (ภาพวาดโดยโซทัตสุ ทาวารายะ) ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สาเหตุสำคัญหนึ่งประการคือทั้งคู่ต่างก็มีภาพของพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ระหว่างสิ่งสำคัญสองอย่าง

เส้นทางเดิน

เมื่อผ่านทางเข้ามาแล้ว ทางเดินปูหินพาเราไปยังสวนด้านนอกข้างสระน้ำ จากนั้นก็พาเรามุ่งเข้าสู่ภายในศาลเจ้าโทโช-งุ ที่มีการประดิษฐานเส้นผมของโทคุงาว่า อิเอยาสุไว้ ศาลเจ้าโทโช-งุแห่งนี้เป็นสุสานที่มีผู้มาสวดอธิษฐานกับโทคุงาว่า อิเอยาสุ (โชกุนผู้แรกแห่งตระกูลโทคุงาวะ) ซึ่งคล้ายกันกับที่ศาลเจ้าโทโช-งุในนิกโก้ ที่นี่ในเกียวโตมีขั้นบันไดหินนำลงไปสู่ศาลเจ้าโฮโจด้านหลังโทโช-งุ จากนั้นเราก็มาถึงสวนสึรุ-คาเมะ ซึ่งมีพื้นที่เปิดโล่งในบริเวณด้านหน้า

สวนสึรุ-คาเมะ

สวนแห่งนี้ออกแบบโดยโคโบริ เอนชู (1579-1647) เมื่อประมาณปีค.ศ. 1630 แต่ผู้ที่คุมการก่อสร้างคือนักจัดสวนมากพรสวรรค์ชื่อเคนเทย์ เอนชูออกแบบสวนอย่างละเอียดทุกจุด ส่วนเคนเทย์จะนำมาสร้างให้เกิดขึ้นจริงตามนั้นเป๊ะ เอนชูต้องการสะท้อนถึงแนวคิดของเรือและ/หรือมหาสมุทรด้วยทรายสีขาวที่ด้านหน้าสวน เมื่อมองจากห้องที่ตั้งอยู่หน้าสวน จะมองไม่เห็นบริเวณส่วนใหญ่ของสวนทราย (เพราะมันใหญ่มาก) กับต้นไม้ตัดแต่งและกลุ่มก้อนหินที่มีความโดดเด่น ต้นไม้เหล่านี้แสดงถึงความลึกของภูเขาและหุบเขาโดดเดี่ยว หินเรียบแผ่นใหญ่ตรงกลางเป็นแท่นบูชา (สำหรับช่วงเวลาพิเศษ) ที่ทุกคนสามารถมาสวดอธิษฐานต่อศาลเจ้าโทโชงุที่อยู่เลยต้นไม้ไปได้ หินกองใหญ่ทางขวามือแสดงถึงนกกระเรียน (สึรุ) ด้านซ้ายมือเป็นสัญลักษณ์แทนเต่า (คาเมะ) ทั้งสองสิ่งหมายถึงความยั่งยืนและความสุข นอกจากนี้เอนชูยังได้ใช้แนวคิดมุมมองจุดเดี่ยวในสวนแห่งนี้ ซึ่งเหมือนว่าเขาจะได้เรียนมาจากมิชชันนารีของยุโรปผู้รอบรู้ โคมตรงกลางสวนทำให้สายตาจับนิ่ง จากนั้นกองหินยักษ์บนทั้งสองฝั่งกับหองหินเล็กที่อยู่ตรงกลาง เกิดเป็นความรู้สึกถึงระยะชัดลึกอย่างชัดเจน

โคโบรุ เอนชูกับความมุ่งมั่นในการจัดสวน

โคโบริ เอนชูเกิดเมื่อปีค.ศ. 1579 ในตระกูลซามูไรและรับใช้ผู้สำเร็จราชการทรงอำนาจอย่างโทโยะโทมิ ฮิเดโยชิ เมื่ออายุได้ 14 เขาก็เริ่มฝึกสมาธิแบบเซนและร่ำเรียนฉะ-โนะ-ยุ (วิถีแห่งชา) หลังฮิเดะโยชิสิ้นชีพ เขาก็ได้ไปรับใช้โทคุงาว่า อิเอยาสุและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำนาญการก่อสร้างสาธารณะซึ่งรวมถึงหน้าที่การออกแบบสวนด้วย เขาได้ทำงานให้กับศาลเจ้าโทโช-งุของนิกโก้ ปราสาทนิโจ-โจของเกียวโต สวนโฮโจของนันเซน-จิ และปราสาทเอโดโจ เช่นเดียวกับอาคารและสวนสำคัญ ๆ ของโชกุนด้วย

อารมณ์สุนทรีย์ของเอนชูมักจะถูกสะท้อนออกมาเป็นคิเรอิ ซาบิ ซึ่งแตกต่างไปจากแนวคิดดั้งเดิมอย่างซาบิ (เรียบง่าย สงบ ลึกซึ้ง ใกล้วาระ...) สัมผัสในด้านความงามของเขานั้นทั้งสดใส งดงาม และฉูดฉาด นอกจากนั้นด้วยความรู้ดั้งเดิมของเขาเกี่ยวกับวรรณกรรมจีนและญี่ปุ่น เขาก็ได้ใส่องค์ประกอบใหม่ ๆ มากมายจากต่างแดนลงไปในความเป็นญี่ปุ่นกับผลงานของเขา แก่นแท้ได้ผสานกันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นโลกดั้งเดิมที่ไม่มีใครเหมือนขึ้นมา

เอนชูได้ฝากวลีสละสลวยที่แสดงถึงปรัชญาแห่ง ฉะ-โนะ-ยุ ของเขา

"ยามหิมะโปรยปราย ใส่ดอกไม้สีแดงลงแจกัน"

ว่ากันตามจริงแล้ว ห้องชงชาแบบยุคก่อนนั้นเรียบง่ายและมืด ในการทำ ฉะ-โนะ-ยุ นั้น ขณะที่แขกกำลังรอคอยเจ้าภาพเข้ามา พวกเขาก็จะชมองค์ประกอบในห้องจิ๋วแห่งนี้ ยอดปรมาจารย์แห่งชาเซน โนะ ริคิว จะไม่จัดสิ่งใดเพิ่มเติมในวันที่หิมะตก เพราะเขาคิดว่าแค่หิมะอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่เอนชูคิดไม่เหมือนกัน เมื่อหิมะตกเขาคิดว่าดอกไม้สีแดงจะกลายเป็นแสงอบอุ่นในหัวใจของบรรดาแขกซึ่งอุตส่าห์เดินฟันฝ่าเส้นทางแคบกลางหิมะเข้ามาในห้องที่ไร้ซึ่งสีสัน

เกี่ยวกับบทความชุดนี้

เกียวโตเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 1000 ปี (794-1867) ขึ้นชื่อในเรื่องวัดกับสวน ซึ่งมีอยู่สามประเภทใหญ่ ๆ (และมีบางสวนที่ผสมหลายประเภท) 1) สวนแห้งที่ใช้หินกับทรายเป็นสัญลักษณ์แทนน้ำ ส่วนใหญ่ออกแบบให้ชมจากในห้อง 2) สวนแบบทัศนาจรที่มักจะมีทางเดินรอบสระ สามารถชมวิวหลาย ๆ มุมได้ขณะที่เดิน 3) สวนแบบนามธรรมที่ค่อนข้างทันสมัยแต่ก็ยังคงรูปแบบตามสวนดั้งเดิมอยู่บ้าง

สวนแห่งแรกของเกียวโตตั้งอยู่ที่สวนชินเซน-เอน สวนมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามกาลเวลาดังที่กล่าวไว้ด้านบน ในบทความชุดนี้ ฉันจะแนะนำให้รู้จักกับนักจัดสวน (นักออกแบบสวน/สถาปนิกภูมิทัศน์) ระดับแนวหน้า กับสวนญี่ปุ่นอันแสนจะงดงามที่พวกเขาได้ออกแบบไว้ในเกียวโต

1 นักบวชมุโสะ โซเซกิ (1275-1351) สวนเทนริว-จิ (สวนแนวทัศนาจร)

2 โคโบริ เอนชู (1579-1647) สวนสึรุของคอนจิ-อิน (สวนแบบแห้ง)

3 อิชิคาว่า โจซัน (1583-1672) ชิเซน-โดะ วิลล่า (สวนแบบแห้ง/ทัศนาจร)

4 อูเอจิที่ 7 (1860-1933) มุริน-อัน วิลล่า (สวนแนวทัศนาจร)

5 ชิเงโมริ มิเรอิ (1896-1975) สวนโฮโจของวัดโทฟุคุ-จิ (สวนนามธรรม)

ถ้าหากคุณชอบบทความชุดนี้ ก็อาจจะถูกใจชุดวัดที่มีสุดยอดระเบียงทางเดินกลางแจ้งในชุดนี้จะพาไปรู้จักกับระเบียงทางเดินและสวนของวัดอันมีเสน่ห์สี่แห่งในเกียวโต

0
0
บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ช่วยเราพัฒนาเว็ปไซต์ JapanTravel.com
ให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.